ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

มอบ สช.ถกร่วม ก.คลัง เก็บภาษี ร.ร.กวดวิชา

12 ธ.ค. 2557 17:01 น.

ผู้อ่าน

  “สุทธศรี” มอบ สช. หารือ ก.คลัง เรื่องการจัดเก็บภาษี ร.ร. กวดวิชา ระบุใน พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน ได้ยกเว้นเก็บภาษี ร.ร.เอกชนนอกระบบ ซึ่งรวมกลุ่ม ร.ร.กวดวิชา จึงต้องดูว่าหากกลุ่มร.ร.เหล่านี้เน้นทำเชิงธุรกิจ ก็ควรต้องเสียภาษี แต่หากทำเพื่อการศึกษาอาจจะยกเว้น พร้อมเสนอไอเดียเก็บภาษีทางอ้อม แต่ต้องถามความเห็น ก.คลัง ก่อน พร้อมเผยข้อมูลวิจัยของ มธ. พบว่า ปี 53 มูลค่าธุรกิจกวดวิชาสูงเกือบ 2 หมื่นล้านกระจายตัวทั้งใน กทม. และภูมิภาค โดยเจ้าของธุรกิจคนเดียวมีกำไร 12 - 19% แต่หากเป็นธุรกิจใหญ่กำไร สูง 40 - 50% 
       
       วันนี้ (11 ธ.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสถาบันกวดวิชา เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถาบันที่ลงทุนไม่สูง แต่มีกำไรค่อนข้างมาก ประกอบกับไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนนิติบุคคล เพราะเป็นเรื่องการศึกษา รัฐบาลจึงไม่ได้เข้าไปควบคุม โดย ครม. มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปแก้ประกาศกระทรวงให้ทันสมัยต่อการจัดเก็บภาษีมานำเสนอ ครม. ภายใน 30 วันนั้น ว่า ขณะนี้ ศธ. ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะที่ดูแลโรงเรียนกวดวิชาเป็นตัวแทนหารือร่วมกับกระทรวงการคลังตามที่ ครม. มอบหมายมา โดยในเรื่องของอัตราภาษีที่จะมีการจัดเก็บนั้น ก.คลัง จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด แต่ในส่วนของ สช. ต้องไปดูรายละเอียดในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550 ที่ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนนอกระบบ 15(2) ประมาณ 3 - 4 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงโรงเรียนกวดวิชาด้วย 
       
       ดังนั้น คงต้องไปพิจารณาว่ากลุ่มโรงเรียน หรือสถาบันเหล่านี้มีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และหากเน้นธุรกิจมากก็ควรต้องเสียภาษี ยกเว้นอาจจะทำเพื่อการพัฒนาเด็กและประชาชน แต่ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอว่าหากจะมีการเก็บภาษีแก่โรงเรียนกวดวิชาหรือสถาบันที่ควรจัดเก็บอาจจะเป็นการจัดเก็บภาษีทางอ้อมได้หรือไม่ แต่ต้องหารือกับ ก.คลัง ก่อน ขณะเดียวกัน เรื่องของการเก็บภาษีจะขอให้ สช. ไปพิจารณาดูหลักเกณฑ์การขอนุญาตจัด ตั้งโรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบันว่าต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับยุคปัจจุบันหรือไม่ 
       
       ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เคยให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษวิจัยเพื่อทราบถึงขนาดธุรกิจกวดวิชาในช่วงปี 2553 พบว่ามีมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และมีการขยายตัวตามระบบการศึกษาแบบปกติและขยายตัวสู่ภูมิภาคมากขึ้น โรงเรียนกวดวิชาจะมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจสำหรับประเภทเจ้าของคนเดียวอยู่ ระหว่าง 12 - 19% ส่วนธุรกิจกวดวิชาขนาดใหญ่ มีอัตรากำไรสูง 40 - 50% และหากเฉลี่ยโรงเรียนกวดวิชาทุกประเภทกำไรที่ยังไม่ได้ถูกหักภาษีจะอยู่ที่ 21% ส่วนค่าเรียนกวดวิชาเฉลี่ยต่อหลักสูตร 3,000 - 5,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการกวดวิชาระบุว่าหากถูกเก็บภาษีอาจจะต้องเพิ่มค่าเล่าเรียนนั้นตนไม่อยากให้มีการเพิ่ม