ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

อยากได้แบบนี้! 'ครูไทยในฝัน พ.ศ. 2558'

16 ม.ค. 2558 10:28 น.

ผู้อ่าน

นโยบายที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัยของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านการศึกษาของประเทศไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ศักยภาพของผู้เรียน คุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่เว้นแม้แต่"พ่อพิมพ์-แม่พิมพ์" ของชาติ ที่เปรียบได้กับกระจกสะท้อนการศึกษาไทยทั้งระบบ

จากยุคท่องอาขยาน มาเป็น Child Center หรือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ยังมีการสอบวัดคุณภาพระดับช่วงชั้น ทั้ง NT และ O-NET รวมไปถึงนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครู ที่อัพเกรดเงินเดือนผ่านเอกสารวิชาการวิทยฐานะ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการหยิบยืมโมเดลจากต่างประเทศมา "ทดลองใช้" หวังให้การศึกษาไทยดีขึ้น

ทว่า ผลที่ได้กลับสวนทาง! ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบเด็กชั้นประถมปีที่ 3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 2.6 หมื่นคนทั่วประเทศ ตอกย้ำภาพลักษณ์ติดลบให้แค่ครู-อาจารย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักเรียน

ภาพ อยากได้แบบนี้! 'ครูไทยในฝัน พ.ศ. 2558'
การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ ครูหยุยบอกต้องคืนคุณครูให้เด็ก!

ครูยุคใหม่ต้องใกล้ชิดเด็ก!

"ต้องคืนครูให้นักเรียนไทย" คือ คำกล่าวแรกของ ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อถามถึงคุณสมบัติของครูไทยในอนาคตที่อยากเห็น

"คุณสมบัติของครูยุคใหม่ ที่จะพาให้เยาวชนไทยสู้กับเด็กต่างประเทศได้ ยิ่งเฉพาะการฝึกให้เป็นผู้นำบนเวทีสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ครูต้องมีเวลาอยู่กับเด็ก เพราะเมื่อเทียบกันแล้วคุณภาพของครูไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพียงแต่ครูหรืออาจารย์ในสังคม ถูกกลไกบางอย่างดึงรั้งให้ติดอยู่กับการทำผลงานทางวิชาการ การประเมินคุณภาพสถานศึกษา จนไม่มีเวลาสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด พัฒนาการของลูกศิษย์ก็ไม่ก้าวหน้า กลายเป็นว่าครูไม่ได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการสอนอย่างเต็มที่" ครูหยุย ระบุถึงเหตุแห่งปัญหา

ส่วนแนวทางแก้ไขช่วยให้ครูไทยเป็นครูเต็มตนมากขึ้นนั้น ประธาน กมธ.กิจการเด็กฯ​ สนช. เสนอว่า นโยบายของ ศธ.ต้องกลับไปสู่การประเมินครูและโรงเรียน โดยมีปัจจัยให้ใกล้ชิดนักเรียนเป็นสำคัญ เช่น กรณีเงินเดือนครูจะขึ้นได้ ต่อเมื่อผลการเรียนของนักเรียนในชั้นดีมีคุณภาพ

ภาพ อยากได้แบบนี้! 'ครูไทยในฝัน พ.ศ. 2558'
ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ

ครูแห่งอนาคตต้องมากล้นความเชี่ยวชาญ

ร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นอีกคนที่มองข้ามสเต็ป ว่าการศึกษาไทยจะพัฒนาไปได้ ครูต้องมีทักษะการสอนที่รู้แจ้งมากกว่า 1 วิชา

"เราต้องสร้างครูให้เป็นมากกว่าแอปเปิล นั่นหมายถึงเป็นได้ทั้ง แอปเปิล มะละกอ กล้วย ส้ม เพื่อจะมาทดแทนการขาดครูในวิชาหลักๆ อย่างอังกฤษและวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการบรรจุครูไม่ตรงสายวิชาไปสอนเด็ก" ดร.ตรีนุช อธิบาย พร้อมกล่าวต่อว่า 

"เพื่อให้แนวคิดนี้ไปถึงเป้าหมาย ศธ.ต้องเปลี่ยนระบบการคัดเลือกนิสิต นักศึกษา ที่จะเข้าเรียนคณะครุศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัย จากเรียนวิชาเอกเพียง 1 วิชา มาเป็น 2-3 วิชา"

เก่งคับแก้วทั่วไทย..คือคุณสมบัติใหม่ของคุณครู

หากจะแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ 600 กว่าล้านบาท การยัดเงินใต้โต๊ะ หรือวิธีทุจริตนานา เพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าเรียนโรงเรียน ดี เด่น ดัง ที่มีอยู่จำนวนน้อยนิด นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ บอกด้วยว่า ต้องพัฒนาระบบการคัดเลือกคนมาเป็นครูให้เป็นธรรมมากกว่าที่เคย

"จำเป็นที่เราต้องสร้างระบบคัดเลือกครูให้เป็นธรรม ด้วยการจัดข้อสอบกลางระดับชาติไว้ใช้คัดเลือก เพราะปัจจุบันแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนจัดสอบ ถ้าทำเช่นนี้ได้ ประเทศไทยก็มีครูที่มีคุณสมบัติเก่งเท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงคุณภาพการศึกษาไทย ก็ถูกยกระดับขึ้นด้วย" ดร.ตรีนุช กล่าว

ภาพ อยากได้แบบนี้! 'ครูไทยในฝัน พ.ศ. 2558'
รศ.ดร.พินิต รตะนานุกูล ยืนยัน ศธ.พร้อมเปลี่ยนครูไทยให้เป็นครูในฝัน

ศธ. พร้อมเปลี่ยน "ครูไทย" ให้เป็น "ครูในฝัน"

ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันกฎหมายการศึกษาชาติ รศ.ดร.พินิต รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงการพัฒนาครูไทยให้กลายเป็นครูในฝันว่า ทาง ศธ. กำลังวางแนวทางในเรื่องนี้อย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก AEC และกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในปลายปีนี้

รศ.ดร.พินิต กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ที่ ศธ.กำลังเร่งดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดภาระงานเอกสารของครูให้น้อยลง เพื่อให้ครูได้อยู่กับนักเรียนมากขึ้น พร้อมจัดกิจกรรมจากส่วนกลางช่วยสานสัมพันธ์ครู-นักเรียน หรือจะเป็นการให้อิสระแก่ครู ที่สามารถเลือกพัฒนาศักยภาพตนเองตามความสนใจ เพียงแต่ต้องส่งผลดีต่อคุณภาพการเรียนการสอน ต่างจากเดิมที่เป็นการบังคับมาอบรม กระทั่งการพิจารณานโยบายเปลี่ยนให้สถานศึกษามีสภาพเป็นนิติบุคคล เพื่อการพัฒนาที่ดีกว่า และสามารถนำงบที่เหลือไปดูแลกลุ่ม ร.ร.ขนาดเล็กได้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมีฐานข้อมูลสนับสนุน และบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ จะเกิดผลดี

"เราอยู่ในขั้นตอนปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด และวิสัยทัศน์ทางการศึกษาใหม่ โดยมีความเชื่อว่าครูจะมีคุณภาพได้ต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ดังนั้น การผลิตครูรุ่นใหม่และการพัฒนาครูยุคเก่าต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ทั้งหมดก็เพื่อผลสุดท้าย ก่อเกิดภาวะผู้นำที่พร้อมช่วยพัฒนาประเทศ ในตัวเยาวชนไทยเจเนอเรชั่นใหม่" เลขาธิการ สกศ. กล่าวทิ้งท้าย


…เชื่อแล้วว่า เด็กไทยจะดีจะเก่งได้ ขึ้นอยู่ที่พ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ อย่าง "คุณครู" จริงๆ

 

 

ที่มา : ไทยรัฐ