ศธ.ประสานสาธารณสุข เตรียมความพร้อม "ฤดูกาลสอบ" ปลอดโควิด
8 มี.ค. 2564 15:41 น.
ผู้อ่าน
ศธ. หารือมาตรการดูแลสนามสอบทุกแห่งที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. นี้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหมู่นักเรียนทั่วประเทศที่จะต้องเข้าสอบกว่า 2-3 แสนคน
ศธ. หารือมาตรการดูแลสนามสอบทุกแห่งที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. นี้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหมู่นักเรียนทั่วประเทศที่จะต้องเข้าสอบกว่า 2-3 แสนคน
สืบเนื่องจากการประชุมระหว่างศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการวางแผนประชุมคณะกรรมการร่วมกันในหลายภาคส่วน เพื่อทบทวนมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เตรียมพร้อมการสอบที่กำลังจะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยในการสอบความถนัดทั่วไปและความถนัดด้านวิชาการ หรือ GAT/PAT ซึ่งมีสนามสอบ 209 แห่งใน 77 จังหวัดนั้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าสอบ 257,274 คน การสอบวิชาสามัญ มีสนามสอบ 176 แห่ง ใน 77 จังหวัด ผู้เข้าสอบ 175,003 คน และการสอบ O-NET หรือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน มีสนามสอบ 397 แห่ง ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้เข้าสอบ 387, 139 คน
โดยทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสอบได้กำหนดตารางสอบรายวิชาไว้ดังนี้ คือ
O-NET ป.6 สอบ 13 มี.ค. 64 ประกาศผล 21 เม.ย. 64
O-NET ม.3 สอบ 13-14 มี.ค. 64 ประกาศผล 22 เม.ย. 64
GAT/PAT สอบ 20-23 มี.ค. 64 ประกาศผล 23 เม.ย. 64
O-NET ม.6 สอบ 27 และ 29 มี.ค. 64 ประกาศผล 27 เม.ย. 64
วิชาสามัญ สอบ 3-4 เม.ย. 64 ประกาศผล 29 เม.ย. 64
V-NET สอบ 4-6 เม.ย. 64 ประกาศผล 25 เม.ย. 64(สอบด้วยระบบดิจิทัล) (วันละ 2 รอบ เลือกสอบ 1 รอบๆละ 3 ชั่วโมง)
วิชาเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัย สอบ 6-10 เม.ย. 64 ประกาศผลตามแต่มหาวิทยาลัยกำหนด
“การจัดสนามสอบ 77 จังหวัด แต่ละแห่งอาจมีนักเรียนเข้าสอบหลักร้อยถึงพันคน จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ห้องสอบแต่ละแห่ง มีนักเรียนเข้าสอบไม่เกิน 30 คน และให้ปฏิบัติตามมาตรการหลักของ สธ.ในการขออนุญาตจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก จึงประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สนามสอบทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน และขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง และผู้เข้าสอบ เข้มงวดในการปฏิบัติตัวป้องกันโควิด-19” พญ. อภิสมัย กล่าว
ทั้งนี้ 6 มาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา นั้น ได้แก่
1. มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา
2. สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา
3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างเพียงพอ
4. จัดให้มีการเว้นระยะห่าง
5. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย
6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน
“ อาจจะเห็นว่ามีความเข้มงวดมากมาย แต่ถ้าหากว่าเราร่วมมือกันก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
ขอขอบคุณข่าว : ฐานเศรษฐกิจ