ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ย้ำอีกเทียบระดับกศน.ไม่ง่ายอย่างที่คิด

11 ก.ย. 2556 10:32 น.

ผู้อ่าน

วันนี้(10ก.ย.) นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย( กศน.) กล่าวถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ  ระบุว่าอาจต้องมีการทบทวนโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษา จบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพของ กศน. เนื่องจากปัจจุบัน มีนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.)ที่เรียนไม่ไหวหรือไม่อยากเรียนหนีมาเรียนโครงการดังกล่าว จึงต้องการให้กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าโครงการให้ชัดเจนว่า  เมื่อ รมว.ศึกษาธิการมองว่าโครงการนี้จะมีผลต่อความเข้าใจของประชาชน  ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้จบง่ายอย่างที่คิด  ดังนั้นกศน.จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการจากคำว่า “จบ ม.6 ใน 8 เดือน" มาเป็น “เทียบระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน”แทนแล้ว โดยโครงการนี้เป็นการให้โอกาสคนที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในอาชีพได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาเทียบระดับได้ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2556 โดยให้สามารถเทียบระดับการศึกษาแบบข้ามระดับได้ เช่น เทียบจากประถมศึกษา เป็น ม.ปลายได้เลย ไม่จำเป็นต้องเทียบทีละระดับ คือ ประถมศึกษา ม.ต้น ม.ปลาย เหมือนในอดีต
 
“สำหรับคนที่จะเข้ามาเทียบระดับได้นั้น กศน.ก็มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็เข้ามาได้ เพราะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีอาชีพที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น ที่สำคัญจะต้องมีความรู้ ความสามารถที่จะนำมาเทียบระดับ เพราะการจบการศึกษาต้องจบอย่างมีคุณภาพ ต้องผ่านการทดสอบ 9 มาตรฐานวิชาที่กศน.กำหนด โดยต้องผ่านในสัดส่วน 60% ในทุกมาตรฐาน ประกอบด้วย 1.การใช้คอมพิวเตอร์ 2.คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 3.การบริหารธุรกิจเอสเอ็มอี 4.ระบอบประชาธิปไตย 5.การบริหารจัดการชุมชน 6.การสนทนาภาษาอังกฤษหรือจีน 7.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 8.การวิจัยชุมชน และ 9.การจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน”นายประเสริฐกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2556  ซึ่งส่งผลให้การประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานมี 2 วิธี คือ 1.การประเมินระดับการศึกษาซึ่งเป็นการประเมินจากความรู้ ความคิด โดยการสอบสามารถประเมินได้ทีละระดับ และ 2.การประเมินเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจบ ม.6 ได้ใน 8 เดือน ซึ่งเป็นการประเมินจากประสบการณ์ โดยจะมีกรรมการ 5 คน ซึ่งสามารถประเมินข้ามระดับได้ 
 
 
 
เครดิต นสพ.เดลินิวส์