ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

"อ๋อย"ยอมถอยคัดเกรดม.4-ตกซ้ำชั้น กลัวโดนนักเรียนฟ้อง-เรียนแย่อาจอ่อนข้อให้แก้เป็นรายวิชา

1 พ.ย. 2556 09:42 น.

ผู้อ่าน

    "จาตุรนต์" ยอมถอย ถอนแก้ประกาศรับนักเรียนปี 2557 คัดเกรด 2.5 ขึ้นชั้น ม.4 ของ สพฐ. เพื่อหวังบีบเด็กเกรดต่ำไปเรียนอาชีวะแทน หลังคิดถี่ถ้วนแล้วหากแก้โดนฟ้องแน่ รวมทั้งยังลังเลนโยบายเรียนตกซ้ำชั้น อาจเปลี่ยนเป็นเรียนซ้ำรายวิชา
    มีแนวโน้มว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทบทวนนโยบายเรื่องการเรียนตกซ้ำชั้น และการเพิ่มสัดส่วนยอดผู้เรียนสายอาชีพ ลดยอดผู้เรียนสายสามัญ โดยเฉพาะลดการรับนักเรียนขึ้นชั้น ม.4 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเตรียมแก้ประกาศรับนักเรียนของปีการศึกษา 2557 นั้น
    แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ.เปิดเผยว่า ในส่วนการพิจารณาปรับแก้ประกาศการรับนักเรียน ที่ตามเป้าหมายต้องลดการรับนักเรียนชั้น ม.4 ของปีการศึกษา 2557 ประมาณกว่า 1 แสนคน เพื่อไปเพิ่มยอดผู้เรียนสายอาชีพนั้น ที่ผ่านมาได้มีการประชุมของ สพฐ.เพื่อพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียนตามประกาศการรับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2557 ที่มีนายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สพฐ.จะไม่แก้ประกาศการรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 ที่ได้มีการออกไปประกาศไปแล้ว เพราะจากการวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าหากปรับแก้ประกาศจริงจะต้องมีปัญหาการฟ้องร้องตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม.3 ที่จะเรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ที่อาจจะเสียสิทธิ์ก็อาจยื่นฟ้องร้องได้
    “หากมีการแก้ไขประกาศการรับนักเรียนโดยเฉพาะการ ปรับผลการเรียนเฉลี่ยที่จะเรียนต่อชั้น ม.4 จาก 2.00 เป็น 2.30-2.50 รวมทั้งการจำกัดการรับนักเรียนชั้น ม.4 ไม่ให้เกิน 40 คนต่อห้องเรียน จะทำให้เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าเรียนได้ และเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิดังกล่าวอย่างแน่นอน ฉะนั้นที่ประชุมจึงเห็นควรให้ใช้ตามประกาศการรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 ตามเดิม ซึ่งประกาศนี้ได้มีการแจ้งให้สถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองทราบล่วงหน้าไปแล้ว” แหล่งข่าว สพฐ.กล่าว
    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้จะต้องนำเสนอนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ. และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป
    นายจาตุรนต์กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการเรียนตกซ้ำชั้นว่า คงต้องมาซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องอีกพอสมควร เพราะระเบียบว่าด้วยการตกซ้ำชั้น ตนได้ลงนามไว้แล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่เป็น รมว.ศธ.ใน พ.ศ.2548 แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะโรงเรียนและครูไม่ได้นำไปดำเนินการ จึงไม่เห็นผล ฉะนั้นมาถึงครั้งนี้จึงคิดว่าแม้จะประกาศออกไปเป็นนโยบายให้มีการตกซ้ำชั้น จึงไม่เกิดประโยชน์ หากโรงเรียนและครูไม่เข้าใจและปฏิบัติตาม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีโรงเรียนในสังกัด จึงต้องเข้าใจรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานอย่างแท้จริงก่อน โดยทิศทางใหญ่ที่ต้องมุ่งดำเนินการคือ การปรับระบบการวัดผลประเมินผล ที่จะต้องเชื่อมโยงไปถึงการจัดระบบทดสอบกลางที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้โรงเรียนรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในภาพรวม ครูรู้ถึงผลการเรียนของเด็กตัวเองเป็นรายห้องและเป็นตัวบุคคล และนำผลไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนได้ตรงจุด
    “หากเราสามารถจัดการวัดผลประเมินผลที่ได้มาตรฐานได้ สามารถรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นรายคนได้ ก็สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางตามนโยบาย โดยการตกซ้ำชั้นอาจไม่ได้หมายความว่าให้นักเรียนต้องกลับมาเรียนใหม่ทั้งหมด อาทิ ให้ตกซ้ำชั้นเป็นรายวิชา และให้มีระบบซ่อมเสริม หรือจัดระบบวิชาเลือกขึ้น” นายจาตุรนต์กล่าว.
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์