ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สมศ.ลั่นประเมินรอบ4 ดึงผลสอบกลางร่วมบ่งชี้

20 มี.ค. 2557 10:53 น.

ผู้อ่าน

     สมศ.เคาะเกณฑ์ประเมินรอบ 4 นำ O-NET, V-NET, U-NET มาร่วมประเมินด้วย ชี้คงเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการจัดสอบกลาง ย้ำประเมินรอบใหม่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างสรรค์ ส่วนหลักสูตรเผย รร.นานาชาติใช้ผลการสอบวัดไทยเนสเป็นตัวบ่งชี้ในการประเมิน
    ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมศ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือว่าควรจะนำผลการทดสอบทางการศึกษา ระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา หรือวีเน็ต และการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือยูเน็ต มาเป็นตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (ปีงบประมาณ 2559-2563) หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรนำผลการทดสอบต่างๆ เหล่านี้มาใช้ แม้ขณะนี้จะมีเสียงจากสังคมว่าโอเน็ตไม่ได้สะท้อนคุณภาพของนักเรียนที่แท้ จริง และข้อสอบไม่ได้มาตรฐาน แต่ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องข้อสอบสามารถพัฒนาได้ และ สทศ.ก็รับที่จะไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานของการจัดทดสอบต่างๆ ให้ดีและเป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนจะใช้ผลโอเน็ต วีเน็ต และยูเน็ตในสัดส่วนเท่าใดนั้น คงต้องพิจารณาอีกครั้ง
    "เราคงปฏิเสธคะแนนเหล่านี้ไม่ได้ เพราะ สทศ.เป็นหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อสอบ จึงทำให้คะแนนที่ออกมามีความเที่ยงตรง ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงจาก 8 เหลือ 6 กลุ่มสาระฯ ซึ่ง สทศ.ก็จะจัดสอบให้เหลือ 6 วิชา และ สมศ.ก็จะปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับในอนาคตต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับหลักสูตร แต่การประเมินรอบ 4 ยังคงเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ ซึ่ง สทศ.จะแยกคะแนนในส่วนเหล่านี้ให้ด้วย” ผอ.สมศ.กล่าว
    สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนจะใช้ผลวีเน็ต ผลการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ หรือวีคิว และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ หรือวีคิวเอฟ โดยเอาคะแนนแต่ละส่วนมาเป็นตัวบ่งชี้ แต่ต้องหารืออีกครั้งว่าจะใช้แต่ละส่วนในสัดส่วนเท่าใด ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาจะใช้ผลยูเน็ตเป็นตัวบ่งชี้ ส่วนกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ จะเป็นครั้งแรกที่ สมศ.จะใช้ผลการสอบวัดความเป็นไทย หรือไทยเนส เป็นตัวบ่งชี้ในการประเมิน ซึ่งจะวัดเรื่องภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย โดยเป็นข้อสอบกลางที่ สทศ.จะเป็นผู้จัดสอบให้ แต่ทางสถานศึกษา หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์