ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ชำแหละโรดแม็พปฏิรูปศึกษาศธ. "สมพงษ์"ชี้ต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ/หดบทบาทระบบแท่ง

7 ก.ค. 2557 11:27 น.

ผู้อ่าน

  "สมพงษ์ จิตระดับ" ชำแหละโรดแม็พปฏิรูปการศึกษาฉบับ ศธ.เป็นแค่ "ลูบมวย" ไม่ได้ผ่าตัดทั้งระบบ เสนอ 8 ข้อ ศธ.ต้องตัดใจปรับโครงสร้างลดอำนาจระบบแท่ง ยุบ สพท. แบ่งเขตพื้นที่ฯ ออกเป็นรายจังหวัด ให้อิสระบริหารจัดการโรงเรียนเอง ส่วนหลักสูตรต้องเชื่อมองค์ความรู้ไทยกับโลกตะวันตกเข้าด้วยกัน แค่เพิ่มชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองอย่างเดียวยังไม่พอ และการผลิตครูต้องเป็นระบบปิด ชี้พิมพ์เขียวปฏิรูปเป็นสัญญาประชาคมห้ามบิดพลิ้ว ต้องทำต่อเนื่อง ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปต้องมีอำนาจ บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแผนปฏิรูปได้ ย้ำเป็นโอกาสทองหากไม่ทำไทยจะล้าหลัง ส่งผลปฏิรูปประเทศไม่สำเร็จไปด้วย
    รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโรดแม็พการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่ากรอบการปฏิรูป 6 ด้านของ ศธ.ในภาพรวมถือว่า ศธ.เริ่มรู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหาอะไร เช่น การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นต้น แต่ทั้งหมดก็เป็นแนวทางที่ ศธ.มองจากการบริหารงานของตนเองเป็นหลัก และนำประเด็นที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์มาใส่เข้าไป อย่างไรก็ตาม แต่ทั้งหมดถือว่า ศธ.ยังมองปัญหาแค่ 3 ส่วนของปัญหาการศึกษาทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีปัญหาอีก 6-7 ส่วนที่ยังไม่ถูกบรรจุในโรดแม็พการปฏิรูป 
    "โรดแม็พการปฏิรูปที่กระทรวงศึกษาเสนอเหมือนการลูบมวย เพราะยังขาดอีก 6-7 ส่วน ถ้าไม่แก้ไข โครงสร้างระบบเดิมไม่เปลี่ยน การปฏิรูปก็ไม่บรรลุเป้าหมาย" รศ.สมพงษ์กล่าวพร้อมกับเสนอแนวทางปฏิรูป 8 ประการ ดังนี้
    1.เป็นเรื่องการกระจายอำนาจ แก้ไขโครงสร้างและระบบของ ศธ.แทบทั้งหมด แต่เมื่อดูจากคำประกาศโรดแม็พของ ศธ.ที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ก็จะเห็นได้ว่า ศธ.ยังคงปฏิรูปโครงสร้างและระบบของกระทรวงในความหมายที่แคบ ทั้งที่ในความเป็นจริงๆ แล้ว คำว่ากระจายอำนาจเป็นคำที่ใหญ่มาก แต่สิ่งที่ ศธ.จะปฏิรูปคือ การคงระบบแท่งไว้เหมือนเดิม แล้วกระจายอำนาจจากบนไปสู่ล่าง และให้จากส่วนล่างตอบสนองส่วนบน ซึ่งการทำรูปแบบนี้ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจในกรอบของระบบราชการแบบเดิมๆ ทั้งที่การกระจายอำนาจที่ควรจะเป็นก็คือ การกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา แล้วให้เขตพื้นที่ฯ กระจายอำนาจนั้นไปสู่โรงเรียน หรือเป็นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการรูปแบบดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้ภาคประชาสังคมเข้ามามี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตัดสินใจการศึกษาของตัวเอง
    "ผมเห็นว่าเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างกระจายอำนาจในกระทรวงศึกษาฯ นี้ เป็นส่วนที่สังคมอยากเห็นมากๆ และอยากให้ทำ อยากให้มีการผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่ ระบบแท่งของ ศธ.ควรมีขนาดที่เล็กลง และ ศธ.ควรลดบทบาทบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควรยุบเขตพื้นที่การศึกษา และกระจายให้มีเขตพื้นที่การศึกษารายจังหวัด ให้เขตพื้นที่ฯ มีความเป็นอิสระ มีอำนาจตัดสินใจบริหารจัดการตัวเองได้ มีความโปร่งใส และเขตพื้นที่ฯ เองจะต้องมีแนวคิดว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ต้องถูกยุบ อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการกระจายอำนาจเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง"
    2.ควรมีการรื้อระบบหลักสูตรใหม่ จากการเน้น 8 กลุ่มสาระสำคัญ และเรียนไม่น้อยกว่า1,200 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาแม้เด็กจะใช้เวลาเรียนมาก แต่ก็ยังต้องไปเรียนกวดวิชา ปัญหาคือจะทำอย่างไรถึงจะลดเนื้อหาและชั่วโมงการเรียนลงมา และเป็นการเน้นที่ตัวผู้เรียน ที่สำคัญคือทำอย่างไรถึงจะให้ตัวหลักสูตรสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้หลัก สูตรตะวันตกที่เป็นสากลกับหลักสูตรความเป็นไทยที่มีทั้งภูมิปัญญา อยู่ในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองได้ 
    "เรื่องหลักสูตรนี่ใหญ่มาก ถ้าบอกแค่ไปปรับพื้นที่ ให้เพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองมากขึ้น ก็เหมือนการปฏิรูปแบบลูบมวยอีกนั่นแหละ เพราะโครงสร้างระบบเดิมมันไม่เปลี่ยน ปัญหาคือทำยังไงถึงจะให้องค์ความรู้ทุนไทยกับทุนนอกเชื่อมเข้าด้วยกัน เรียนความรู้ตะวันตกไปพร้อมกับเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาไทย อัตลักษณ์ไทย หน้าที่พลเมือง และในวิชาหน้าที่พลเมือง ก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็กไปทำกิจกรรมมากขึ้น"
    3.ต้องมีการเข้มงวดระบบผลิตครู การผลิตครูต้องเป็นระบบปิดทั้งหมด ใช้การสอบเข้า ไม่ใช่ปล่อยให้อุดมศึกษาเปิดรับนักศึกษาไม่อั้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นธุรกิจเหมือนอย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ วิทยฐานะของครูก็จะต้องเปลี่ยน แปลงให้กับครูที่มีคุณภาพจริงๆ
    4.ต้องมีการสอนความเป็นพลเมือง เรื่องระบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และการสอนต้องเป็นการลงไปสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจอาสาสมัครและมีจิตสาธารณะ
    "เรื่องจิตสาธารณะ จิตอาสานี่ ต้องสอนนะครับ ไม่ใช่สอนแบบท่องจำหรืออ่านในตำรา ไม่อย่างนั้น สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากเห็นนี่คงไม่เกิดขึ้นแน่"
    5.ต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนลงไปสู่ความสนุกสนาน น่าสนใจ ซึ่งครูที่เป็นวิทยากรจะต้องมีกระบวนการนำไปสู่การเรียนการสอนรูปแบบนี้ ไม่ใช่สอนให้เด็กเรียนรู้ท่องจำหรือเรียนรู้ในตำราอย่างเดียว เพราะต่อไปการเรียนจะต้องลงไปสู่รูปแบบมีเดีย และการเป็นเรียนแบบปัจเจกบุคคลมากขึ้น ซึ่งปัญหาคือทำอย่างไรถึงจะพาเด็กไปสู่การเรียนรูปแบบนี้ได้
    6.ต้องมีแผนสร้างแรงงานระดับกลาง หรือการสร้างบุคคลผู้มีคุณลักษณะในการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งการเรียนอาชีวะถือว่ามีบทบาทความสำคัญต่อการสร้างแรงงานระดับกลาง แต่ขณะนี้เราแทบไม่มีการเตรียมตัวรับมือ ทั้งที่เราควรเตรียมคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานที่ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษไว้ ล่วงหน้า
    7.ตัวคณะกรรมการปฏิรูป ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นผู้มีอำนาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและทิศทางการปฏิรูป ซึ่งตัวคณะกรรมการควรมาจากตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้ง ศธ. ภาคท้องถิ่น ประชาชน ภาคเอกชน ส่วนพิมพ์เขียวการปฏิรูปการศึกษาจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศของ คสช. และแผนปฏิรูปจะต้องอยู่ต่อเนื่อง มีการระบุกำหนดระยะการเห็นผลปฏิรูปที่ชัดเจน
    "คณะกรรมการต้องมีอำนาจ สามารถบังคับคนทั้งประเทศ บังคับหน่วยงานทบวง กรม ให้ปฏิบัติตามแผนที่ถือว่าเป็นมติของประชาชน และแม้ตัวคณะกรรมการเดิมจะเปลี่ยน แต่แผนการปฏิรูปจะต้องดำเนินต่อเนื่อง"
    8.ต้องมีการผ่าตัดใหญ่การใช้งบประมาณของ ศธ. เพราะทุกวันนี้แม้เราจะทุ่มงบการศึกษามากถึงปีละ 4-5 แสนล้าน แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ไม่ลงไปถึงตัวเด็ก ไปอยู่ที่เงินเดือนครูและบุคลากรถึง 67% บริหารจัดการครุภัณฑ์อีกประมาณ 10% และลงไปถึงเด็กเพียงแค่ 3% ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปการใช้ทรัพยากรทางการเงิน เพื่อให้งบประมาณลงไปสู่ตัวเด็กให้มากที่สุด
    "ตอนนี้นับว่ากระทรวงศึกษาธิการเริ่มเรียนรู้ตระหนักปัญหาแล้ว ซึ่งการฟังความเห็นโรดแม็พปฏิรูปวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะต้องมีการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน และผมว่าครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ของประเทศ เพราะตอนนี้การเมืองไม่มี ที่ผ่านมาการศึกษาเราเดินไปแค่ 6 เดือนก็หยุด หรือปีหนึ่งหยุด เพราะการเมือง และถ้าเราไม่ทำอะไรตอนนี้ ประเทศเราก็คงแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ เด็กของเราก็คงจะรั้งท้ายประเทศอื่นๆ ที่สำคัญคือ การปฏิรูประเทศที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ต้องมีการศึกษาเป็นพื้นฐานน เราอยากให้ประเทศเป็นแบบไหน เราก็ต้องใช้การศึกษาให้เป็นไปในทิศทางอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นการปฏิรูปของเราก็คงไม่สำเร็จ" รศ.สมพงษ์กล่าว.

 

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์