ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สพฐ.คิดลดเก็บเงินจัดเรียนฟรีจริง

18 ก.ย. 2557 09:55 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สพฐ.คิดลดเก็บเงินจัดเรียนฟรีจริง

วันนี้ (17ก.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิเผยว่า ตามที่กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองได้เรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บค่าใช้จ่ายในการ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากมีโครงการเรียนฟรีเรียนดี อย่างมีคุณภาพ15 ปี อยู่แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการ กลับอนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บได้ในบางรายการนั้น เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.รวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่าย ทั้งหมดจากสถานศึกษาทั่วประเทศอยู่ ซึ่งขณะนี้สถานศึกษาก็ทยอยจัดส่งข้อมูลมาแล้ว โดยข้อมูลที่ส่งมาแยกเป็น 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายปกติ ซึ่งเป็นค่าใช้รายหัวเรียนฟรี 15 ปี ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนเก็บจากเด็กตามระเบียบของ สพฐ.ที่อนุญาตให้เก็บประมาณ 22 รายการเช่น สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ค่าบำรุงสนามกีฬา เป็นต้น และ กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ อินเทอร์เน็ต ค่าเช่าสัญาณ เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ค่าใช้จ่ายกลุ่มแรก และกลุมที่สองจะไม่ค่อยมีปัญหา จะไปหนักที่ค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือ โรงเรียนดัง 200 กว่าโรงซึ่งมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงมาก

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สพฐ.มีความตั้งใจจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ซึ่งหากดำเนินการก็ต้องทำอย่างเท่าเทียมเบื้องต้นเท่าที่ดูที่คิดว่าน่าจะทำ ได้ก่อน คือ การงดเก็บค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายประมาณ 5-10 รายการ เช่น บัตรห้องสมุด สระว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งรายการเหล่านี้บางโรงเรียนก็ไม่ได้เก็บอยู่แล้ว แต่ก็มีบางคนให้ความเห็นว่าลดนิดหน่อยไม่ได้ผลเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องมาวิเคราะห์ว่า อะไรที่ทำแล้วจะไม่กระทบกับโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ตนได้ย้ำว่าขอให้โรงเรียนเสนอตัวเลขที่เป็นจริง หากโรงเรียนไหนเสนอตัวเลขสูงมากเกินไปก็ต้องขอดูใบเสร็จ

"เรื่องที่ เป็นปัญหามาก คือ ค่าสาธารณูปโภค เพราะถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือ โรงเรียนดัง จะมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก แต่ละเดือนโรงเรียนเหล่านี้จะเสียค่าสาธารณูปโภคเป็นล้าน เพราะต้องเปิดอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เมื่อโรงเรียนขอมา สพฐ.ไม่สามารถจัดงบฯให้ได้ โรงเรียนก็ต้องรณรงค์หาทุนจากผู้ปกครองซึ่งบางครั้งการที่โรงเรียนขอรับเงิน บริจาค หรือ เงินสนับสนุน ก็อาจจะคาบเกี่ยวกับการเรียกเงินกินเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงพอสมควร " ดร.กมล กล่าวและว่า หลังจากที่ สพฐ.เก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะต้องมาคำนวณค่าใช้จ่ายที่แท้จริงก่อน เพื่อเสนอว่าจะต้องเสนอของบประมาณเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ เพื่อให้การเรียนฟรีเข้าใกล้ความจริงที่สุด ขณะเดียวกันก็อาจจะเสนอวิธีรณรงค์หาทุนเพิ่มเติมให้โรงเรียนด้วย เช่น การทอดผ้าป่า ทอดกฐิน การรับบริจาค และยังมีอีกแนวคิดที่น่าสนใจมากที่ นายมีชัย วีระไวทยะ เคยเสนอไว้ คือ 1 โรงเรียน 1 บริษัท โดยให้บริษัทเอกชนที่มีความพร้อมมาสนับสนุนโรงเรียนในลักษณะของการตอบแทน สังคม และเป็นมาตรการทางภาษี ซึ่งมีหลายโรงเรียนทำอยู่และได้ผลอย่างดี โดยไม่เกี่ยวกับการรับนักเรียน และไม่ต้องกังวลเรื่องการฝากเด็ก เพราะจะเน้นเรื่องการช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก

 

 

เครดิต นสพ.เดลินิวส์