ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

แฉ! มหา'ลัย แอบรับ อ.จบ ป.ตรีสอนทำคุณภาพการศึกษาต่ำ จี้ สกอ.รับผิดชอบ

3 มี.ค. 2557 09:27 น.

ผู้อ่าน

สมศ.แฉมหา’ลัย รับอาจารย์ ป.ตรีสอน ส่งผลคุณภาพการศึกษาต่ำ จี้ สกอ.ในฐานะต้นสังกัดจัดการลั่นไม่ควรรับอาจารย์ ป.ตรี อีก เว้นแต่สาขาเปิดใหม่ยังผลิตบุคลากรไม่ทัน ส่วนที่รับไว้เดิมให้เร่งพัฒนาได้วุฒิสูงขึ้น
       
       ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สมศ.ได้ประกาศผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (ปี 2554-2558) เขตภาคกลาง จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ราชบุรี สมุทรปราการ และสระบุรี  ไปแล้วนั้น ยังพบประเด็นสำคัญที่เป็นจุดอ่อนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และนักศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือปัญหาในเรื่องคุณภาพครู อาจารย์  โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา ที่ได้ยกระดับเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาที่เปิดสอนปริญญาตรี และระดับอุดมศึกษา ที่ส่วนใหญ่พบว่ายังมีอาจารย์ผู้สอนที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ ทั้งที่การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาควรใช้อาจารย์ผู้สอนที่มีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่านี้ ขณะที่ภาพรวม ทั้งประเทศมีอาจารย์ที่จบปริญญาตรีอีกจำนวนมากที่สอนอยู่ในมหาลัย เป็นตัวสะท้อนปัญหาคุณภาพการศึกษาที่สำคัญ เพราะคุณภาพอาจารย์สะท้อนถึงคุณภาพบัณฑิต
       
       “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดควรต้องปรับปรุงระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน และไม่ควรรับผู้จบปริญญาตรีเข้ามาเป็นอาจารย์แล้ว ยกเว้นวิชาที่เป็นวิชาใหม่ ซึ่งยังไม่มีการผลิต เช่น แพทย์แผนไทย หรือแพทย์เฉพาะทาง ส่วนสถาบันใดมียังมีอาจารย์วุฒิปริญญาตรีอยู่ต้องไปเร่งพัฒนาส่งเสริม อาจารย์ให้ได้วุฒิสูงขึ้น อีกทั้งการเรียนการสอนต้องทำควบคู่ไปกับการทำวิจัย  ไม่ใช่นั่งสอนอย่างเดียวเหมือนครูมัธยม  โดยสถาบันการศึกษาอาจจะกำหนดเป็นมาตรฐานชัดเจนว่า อาจารย์ควรจะสอนเท่าไหร่ เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด โดยจะต้องมีเวลาเหลือสำหรับทำวิจัยด้วย ซึ่งอาจารย์ก็สามารถนำงานวิจัยเหล่านั้นไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่ คือ การเปิดสอนหลักสูตรเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน กลายเป็นธุรกิจการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาบัณฑิตตกงาน ซึ่งต้นสังกัดต้องเร่งปรับระบบให้มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรตามทิศทางการพัฒนาประเทศมากขึ้น และจากการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ยังพบว่า ยังมีมหาวิทยาลัยบางจังหวัด เปิดหลักสูตร ไม่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น และที่น่าตกใจคือ บางแห่งเปิดสอนโดยที่ สกอ.ยังไม่รับทราบหลักสูตร  เมื่อเด็กจบการศึกษา อาจจะทำให้มีปัญหาร้องเรียนอย่างที่ผ่านมา

 

เครดิต :  ผู้จัดการออนไลน์