ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เสนอปลดล็อก อ.มหา'ลัยทำวิจัยภาคอุตฯ ไม่บกพร่องหน้าที่ ใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้

22 ต.ค. 2557 10:16 น.

ผู้อ่าน

ภาพ เสนอปลดล็อก อ.มหา'ลัยทำวิจัยภาคอุตฯ ไม่บกพร่องหน้าที่ ใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้
        สกอ.เสนอปลดล็อกกฎ ก.พ.อ. เอื้ออาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยภาคอุตสาหกรรมได้เต็มเวลา ไม่ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ พร้อมเปิดช่องเอาผลงานวิจัยภาคอุตฯขอตำแหน่งทางวิชาการได้ เล็งหารือมหาวิทยาลัยปรับภาระงานให้สอดคล้อง
 
ภาพ เสนอปลดล็อก อ.มหา'ลัยทำวิจัยภาคอุตฯ ไม่บกพร่องหน้าที่ ใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้
ภาพ เสนอปลดล็อก อ.มหา'ลัยทำวิจัยภาคอุตฯ ไม่บกพร่องหน้าที่ ใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ.
ภาพ เสนอปลดล็อก อ.มหา'ลัยทำวิจัยภาคอุตฯ ไม่บกพร่องหน้าที่ ใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้
        วันนี้ (21 ต.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า ประเด็นการโยกย้ายนักวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไปช่วยสร้างงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้นนั้น ในส่วนของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถไปทำงานวิจัยภาคอุตสาหกรรมได้ เต็มตัว เพราะติดกฎระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่กำหนดว่าอาจารย์ต้องปฏิบัติภาระงานครบทั้ง 4 ประเภท คือ การวิจัย การสอน บริการทางวิชาการ และการทำนุศิลปวัฒนธรรม
       
       รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตนได้หารือกับนา ยกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หาแนวทางปลดล็อกกฎ ก.พ.อ. ให้มีความยืดหยุ่น เพื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถ สร้างงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมได้เต็มเวลา โดยไม่ถือเป็นความบกพร่องในภาระงานใดภาระงานหนึ่ง ขณะเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาใช้ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการสายภาคอุตสาหกรรมได้
       
       “สกอ. คงต้องมาคิดว่าจะปลดล็อกกฎดังกล่าวอย่างไร เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ก.พ.อ. เท่านั้น นักวิจัยที่เป็นอาจารย์ ส่วนหนึ่งยังติดระบบสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ มิเช่นนั้นจะไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งต้องหารือกับมหาวิทยาลัยดัวยว่าจะปรับภาระงานกันอย่างไรให้สอดคล้อง และสามารถนำหลักการที่ได้ในภาคอุตสาหกรรมมาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนอย่าง สมบูรณ์ อาทิ ให้นักศึกษาไปเรียนรู้ระหว่างที่อาจารย์ไปทำงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น” เลขาธิการ กกอ. กล่าว
       
       รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ส่วนการนำงานวิจัยในภาคอุสาหกรรมมาใช้ในการขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ อาจจะต้องให้มีหน่วยงานตรวจสอบการทำงานของนักวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่านักวิจัยทำงานวิจัยชิ้นนั้นจริง เพราะงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ บางครั้งจึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ต่างจากงานวิจัยทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะตรวจสอบได้จากเอกสาร เพราะจะต้องตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุป ยังต้องหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก โดยเฉพาะ ก.วิทย์ ที่อาจต้องมีความร่วมมือให้นักวิจัย ก.วิทย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษา ระดับปริญญาโทและเอก เพื่อพัฒนางานวิจัย ในด้านดังกล่าวให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
        

 

 

เครดิต นสพ.ผู้จัดการ