ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เร่งขยายศูนย์เรียนเฉพาะความพิการ

28 ต.ค. 2557 10:25 น.

ผู้อ่าน

สศศ.ตั้งเป้าปี 58 ครบ 800 แห่งทุกอำเภอ/ยกร่างระเบียบ ศธ.รองรับ

      เมื่อวันที่ 27 ต.ค.57 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ว่าที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดตั้งและพัฒนาการศึกษาในศูนย์คนพิการ ที่มีปลัด ศธ. เป็นประธาน ไปศึกษารายละเอียด เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการขึ้น โดยปัจจุบันสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดอยู่ 77 แห่ง ทั่วประเทศ และมีศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งถือเป็นสาขาของศูนย์การศึกษาพิเศษ อยู่ 238 แห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นทาง สศศ. จึงเสนอต่อที่ประชุมว่าควรจัดตั้งศูนย์เฉพาะความพิการ เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอและดูแลผู้พิการให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างครอบคลุม และต้องมีกฎหมายรองรับ โดยจากนี้คณะอนุกรรมการจัดตั้งฯ จะต้องไปยกร่างระเบียบ ศธ. เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวให้มีกฎหมายรองรับ ตาม พ.ร.บ.การจัดการศึกษาเฉพาะคนพิการ พ.ศ.2551 อย่างเป็นทางการ

     "ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ประจำปีงบประมาณ 2558 จำนวน 300 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้รับบริการทางการศึกษา ซึ่งกองทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะขอรับการสนับสนุนจากเงินภาษีสินค้า ที่เป็นต้นเหตุแห่งความพิการ และขอยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับผู้บริจาคเงินเข้ากองทุนด้วย" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว 

       นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการ สศศ. กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้พิการทั่วประเทศ มีประมาณ 400,000 ราย อยู่ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ประมาณ 60,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ เพราะผู้พิการบางส่วนไม่สะดวกเดินทางมาเรียนยังศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มศูนย์ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงการบริหารได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ทาง สศศ.ตั้งเป้าว่าในปี 2558 จะเพิ่มศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการอีก 800 กว่าแห่ง ให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ และในอนาคตจะให้ครอบคลุมทั้ง 6,000 กว่าตำบลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีกฎกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาคนพิการอยู่แล้วถึง 5 ฉบับ แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะคนพิการ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อรองรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการที่อาจจะเดินทางไปเรียนไม่สะดวก และเนื่องจากมีผู้ปกครองบางส่วนก็ต้องการจัดการด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องมีระเบียบมารองรับ

 

เครดิต สยามรัฐ