ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ศธ.เล็งให้เด็กสอบโอเน็ตน้อยลง

31 ต.ค. 2557 11:10 น.

ผู้อ่าน

วันนี้ (30 ต.ค.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายยุวทัศน์ ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนของการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยได้ขอให้ลดสัดส่วนของปีการศึกษา 2557 ที่กำหนดให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และผลโอเน็ต ในสัดส่วน 70:30 เหลือเท่ากับปีการศึกษา 2556 ที่กำหนดไว้ที่ 80:20 ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นหลากหลาย จึงยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่าหลังจากนี้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องพัฒนาในเรื่องคุณภาพมาตรฐานการสอบให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

“ทราบว่าสัปดาห์หน้า พล.ร.อ.ณรงค์ จะไปตรวจเยี่ยม สทศ. ซึ่งคงจะมีการหารือเรื่องการจัดสอบต่าง ๆ ด้วย เพราะต้องการให้การวัดผลทุกชนิดเน้นที่ผู้เรียนเป็นหลัก และต้องเกิดผลต่อผู้เรียนด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการหารือด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การทดสอบโอเน็ตจะลดวิชาการสอบในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้น้อยลง โดย สทศ.ไม่จำเป็นต้องสอบให้ครบ 8 กลุ่มสาระอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง สทศ.อาจจะจัดสอบเฉพาะวิชาหลักเท่านั้น ส่วนวิชาอื่น ๆ เช่น สังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง สุขศึกษา อาจให้โรงเรียนเป็นผู้วัดและประเมินผลเองในรูปแบบที่หลากหลาย โดยในส่วนนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเป็นตัววัด แต่อาจจะวัดผลจากพฤติกรรม หรือพัฒนาการของผู้เรียนที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์แทน” ปลัด ศธ.กล่าว

ดร.สุทธศรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งที่ประชุมเน้นย้ำว่า ควรมีการสำรวจการใช้จ่ายเงินของครูทุกวันนี้ว่า มีการใช้จ่ายอย่างประหยัดและยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือยัง ถ้ายังก็ควรมีการส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มาก ส่วนกรณีที่มีการเปิดช่องทางให้ครูสามารถกู้เงินได้หลากหลายช่องทางนั้น ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(กคศ.) ไปหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว และกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป.

 

เครดิต เดลินิวส์