ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ชง สทศ.ปรับลดกลุ่มสาระฯ ทดสอบ O-Net

31 ต.ค. 2557 11:16 น.

ผู้อ่าน

องค์กรหลัก ศธ. ไร้ข้อสรุปกรณีเครือข่ายยุวทัศน์เสนอใช้สัดส่วนคะแนน O-Net ของปี 57 ประเมินเรียนจบจาก 30% เป็น 20% เท่าปีที่ผ่านมา พร้อมหารือความเป็นไปได้ให้ สทศ.ปรับลดสัดส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ใช้ทดสอบ O-Net เน้นกลุ่มหลักส่วนที่เหลือให้ ร.ร. เป็นผู้ประเมินเองที่อาจใช้รูปแบบที่หลากหลาย ขณะที่ รมว.ศึกษาธิการ เตรียมตรวจเยี่ยม สทศ. สัปดาห์หน้าพร้อมหารือเรื่องการจัดสอบด้วย
       
       วันนี้ (30 ต.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายยุวทัศน์ ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนของการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยได้ขอให้ลดสัดส่วนของปีการศึกษา 2557 ที่กำหนดให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และผลคะแนน O-Net ในสัดส่วน 70:30 เหลือเท่ากับปีการศึกษา 2556 ที่กำหนดไว้ที่ 80:20 แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องคุณภาพมาตรฐานการสอบนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่าสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
       
       “คาดว่าในสัปดาห์หน้า รมว.ศึกษาธิการ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยม สทศ. พร้อมทั้งหารือเรื่องการจัดสอบต่างๆ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ อยากให้การวัดผลทุกชนิดเน้นที่ผู้เรียนเป็นหลักและเกิดผลต่อผู้เรียน นอกจากนี้ จะหารือด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การสอบ O-Net จะปรับลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอบให้น้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องสอบให้ครบ 8 กลุ่มสาระฯ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ สทศ. อาจจะจัดสอบเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักๆ เท่านั้น ส่วนอื่นๆ เช่น สังคมศึกษา สุขหน้าที่พลเมือง สุขศึกษา อาจให้โรงเรียนเป็นผู้วัดและประเมินผลเองในรูปแบบที่หลากหลายกันไป ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเป็นตัววัด แต่อาจจะวัดผลจากพฤติกรรม หรือพัฒนาการของผู้เรียนที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์แทน”ปลัด ศธ. กล่าว
       
       ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งที่ประชุมเน้นย้ำว่าควรไปสำรวจการใช้จ่ายเงินของครูทุกวันนี้ ว่า ครูมีการใช้จ่ายอย่างประหยัด และยึดถือตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือยัง ถ้ายังควรส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มาก ส่วนกรณีที่มีการเปิดช่องทางให้ครูสามารถกู้เงินได้หลากหลายช่องทางนั้น ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ไปหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว และกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป
 

 

เครดิต ผู้จัดการออนไลน์