ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สทศ.ผุดระบบทดสอบโอเน็ตรายบุคคล มี 3 ระดับเก่ง-ปานกลาง-อ่อนทดลองทำกี่ครั้งก็ได้/คาดช่วยดึงคะแนนดีขึ้น

10 พ.ย. 2557 10:58 น.

ผู้อ่าน

ไทยโพสต์ 0 สทศ.ผุด "ระบบข้อสอบแบบปรับเหมาะระดับ" ให้นักเรียนทดลองทำข้อสอบโอเน็ตตามระดับความสามารถแต่ละบุคคล โดยกำหนดแนวข้อสอบ 3 เกณฑ์ เก่ง, ปานกลาง และอ่อน ถ้าไม่พึงพอใจผลคะแนนที่ออกมาสามารถทำสอบใหม่อีกกี่ครั้งก็ได้ ผ่านทางเว็บไซต์ สทศ. "สัมพันธ์  "ชี้เพื่อไม่ให้ข้อสอบปีก่อนๆ สูญเปล่า และยังทำให้ผลคะแนนโอเน็ตของเด็กดีขึ้นอีกด้วย
    นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า สทศ.ได้นำข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (โอเน็ต) ที่ผ่านการสอบแล้ว จัดทำวิจัยและพัฒนาให้เป็นระบบข้อสอบแบบปรับเหมาะระดับ (Adaptive Testing) ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ สทศ. เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปใช้ เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน และ สทศ.มีความต้องการอยากให้มีการนำข้อสอบโอเน็ตที่ผ่านการสอบแล้วนำไปใช้ควบคู่กับการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ใช่เป็นเพียงการสอบเพื่อวัดผลทางการศึกษาในช่วงชั้นต่างๆ เท่านั้น
    "สทศ.มองว่าไม่อยากให้ข้อสอบ สทศ.ที่ออกไปแล้วเสียเปล่า เพราะที่ผ่านมาครูโรงเรียนต่างๆ ไม่ค่อยดึงข้อสอบนี้มาใช้ สอนกันแต่ในหนังสือเท่านั้น ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะทำให้ผลคะแนนโอเน็ตของเด็กออกมาดีขึ้นเมื่อมีการสอบจริง"
    นายสัมพันธ์กล่าวต่อว่า การทำข้อสอบแบบปรับเหมาะระดับนั้น แบ่งเป็นช่วงชั้น คือ ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 6 ทั้งนี้ ครูจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่แนะนำให้ผู้เรียนทดลองทำข้อสอบ ซึ่งอาจจะทำหลังจากที่สอนจบหลักสูตรแล้ว หลังจากนั้นผู้เรียนยังสามารถเข้าไปทำข้อสอบเพื่อทดสอบอีกกี่ครั้งก็ได้ ซึ่งเมื่อเริ่มทำข้อสอบทั่วไป ระบบจะประเมินความสามารถของผู้ทำข้อสอบ กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ ระดับเก่ง ระดับปานกลาง และระดับอ่อน จากนั้นระบบจะจัดชุดข้อสอบที่ตรงกับระดับความสามารถของผู้ทดสอบเพื่อทำการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการจัดข้อสอบที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล อย่างไรก็ตาม ชุดข้อสอบที่นักเรียนอาจทำการทดสอบอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นข้อสอบระดับความสามารถเดียวกัน แต่เนื้อหาจะไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้การทดสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    ผอ.สทศ.กล่าวต่อว่า ระบบข้อสอบปรับระดับนี้ ผู้เรียนทุกระดับชั้นสามารถเข้าไปทำได้ในเว็บไซต์ของ สทศ. เช่น นักเรียน ม.1 อาจจะทำข้อสอบของ ม.3 ก็ได้ ซึ่งผลการทดสอบที่ได้อาจจะอยู่ในระดับที่อ่อน หรือนักเรียนชั้น ม.2 เมื่อทดลองทำข้อสอบแล้วอาจจะได้ระดับเท่ากับนักเรียน ม.3 ที่อยู่ในระดับอ่อนได้เช่นกัน เป็นต้น และข้อสอบดังกล่าวจำเป็นจะต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ทาง สทศ.ก็จะขอความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ทางการศึกษาให้ช่วยกระจายตัวระบบทดสอบของ สทศ.ไปยังสถานศึกษาต่างๆ โดยการนำซอฟต์แวร์เข้าไปติดตั้งในคอมพิวเตอร์โรงเรียน เพราะเขตพื้นที่ฯ จะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าสถานศึกษาแห่งไหนมีความพร้อมแบบไหน อย่างไร
    ส่วนโครงการ PreO-Net ที่นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาระบุว่า จะให้นักเรียนทดลองทำข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาต (โอเน็ต) เพื่อผลคะแนนโอเน็ตจะได้ออกมาดีนั้น นายสัมพันธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ สพฐ.จะดำเนินการเอง สทศ.ไม่ได้เข้าไปจัดการการทดสอบดังกล่าวแต่อย่างใด.

 

เครดิต ไทยโพสต์