ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เล็งทำมหา'ลัยโปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

27 ม.ค. 2558 10:32 น.

ผู้อ่าน

        เล็งหาวิธีการและกลไกเพื่อให้ มหา’ลัย มีส่วนรับผิดรับชอบต่อสังคมยิ่งขึ้น อาทิ เปิดข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้ เตรียมค้นในถัง สกอ. มีข้อมูลใดเปิดเผยได้บ้าง ขณะที่ “กฤษณพงศ์” ยอมรับปัญหาธรรมาภิบาลแก้ยาก ระบุประสบการณ์ตรงพบบางที่มีสภาฯ นักเลง คนดีจึงไม่อยากยุ่ง แนะต้องกล้ามีปากเสียง กล้าค้าน ระบุสำคัญที่สุดต้องมีจิตสำนึก
       
       วันนี้ (26 ม.ค.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้หารือกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เรื่องการสร้างกลไกความรับผิด รับชอบของสถาบันอุดมศึกษาต่อสังคม โดยมองใน 2 แนวทางคือ การกำหนดกฎหมายขึ้นมากำกับดูแล ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอดูความชัดเจนของ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา แนวทางที่สอง สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการ โดยทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้สาธารณชนรับทราบ ทั้ง นี้ ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ทันที เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องรายงานข้อมูลการดำเนินการในแต่ละปีให้สำนักงานคณะ กรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดทำเป็นฐานข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ว่าในฐานข้อมูลของ สกอ. มีเรื่องใดอยู่บ้าง และตรงไหนที่สามารถเผยแพร่แล้วเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินงานของประเทศต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งในเรื่องของการประเมินคุณภาพภายใน ภายนอก การอนุมัติหลักสูตร สถานะทางการเงิน รวมถึงข้อมูลการมีงานทำของบัณฑิต เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และประกันคุณภาพผู้เรียน
       
       รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งการสรรหาอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาฯ ที่มีข้อร้องเรียนในเรื่องความโปร่งใส หรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอยู่บ่อยครั้งนั้น เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และจากที่ตนเคยนั่งเป็นนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ หลายๆ แห่งพบว่าปัญหาหลัก คือ ภายในสภาฯ ยังมีการล็อบบีเพื่อให้มีคะแนนเสียงสามารถดำเนินการในสิ่งที่ต้องการ ได้ โดยไม่ถือว่าผิดข้อบังคับเพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่
       
       “นอกจากวิธีการล็อบบี้ ยังมีกรรมการสภาฯ บางคนที่ชอบทำตัวเสียงดัง เป็นหัวโจก โวยวายเป็นนักเลง จนทำให้กรรมการสภาฯ คนอื่นๆ ที่ไม่อยากมีปัญหาเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่ง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ ดังนั้น ทางแก้ปัญหาคือ คนในมหาวิทยาลัยเองต้องกล้ามีปากมีเสียง หรือหากเห็นว่าสิ่งใดไม่ถูกต้องก็ควรคัดค้าน ไม่ใช่นิ่งเฉย แต่ที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลจะไม่เกิดขึ้นเลย หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกคนมีจิตสำนึก และทำในสิ่งที่ถูกต้อง” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

 

ที่มา : ผู้จัดการ