
สปช.จี้ลดนักเรียนต่อห้องเหลือ 30 คน “ณรงค์” สั่งให้ศึกษาปัดไม่ทันปี 58
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเวทีเสวนา “ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน” มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนนักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วม พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะถ้ารากฐานไม่ดีการต่อยอดอาจล้มได้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงมีการพูดคุยและเสนอให้ขยายการศึกษาภาคบังคับลงมาถึงระดับอนุบาล ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ต้องบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไร ก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดต้องรอข้อสรุปจาก สปช. และ สนช.อีกครั้ง นอกจากนี้จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการหารือถึงการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ได้ขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดรวมทั้งงาน วิจัยต่างๆ ซึ่งคงไม่ได้เริ่มทันทีในปีการศึกษา 2558
ด้านนายอำนาจ วิชายานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า การขยายการศึกษาภาคบังคับลงมาถึงระดับปฐมวัย ตามขั้นตอนแล้วเมื่อมีการบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศธ.ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ 2547 ส่วนจะประกาศใช้ได้เมื่อไหร่นั้น ต้องรอรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐไม่ได้บังคับว่าเด็กทุกคนต้องเรียนระดับอนุบาล แต่สำหรับผู้ที่เข้าเรียนรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้เหมือน ระดับการศึกษาอื่นๆ โดยระดับอนุบาลอยู่ที่ 1,700 บาทต่อคนต่อปี แต่เมื่อมีการกำหนดให้ระดับอนุบาลเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับ หากผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนจะถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องนั้น เป็นข้อเสนอของสปช.ที่เห็นว่าจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 30 คนต่อห้อง อย่างไรก็ตาม สพฐ.เสนอว่าเรื่องนี้ดำเนินการไม่ได้ในปีการศึกษา 2558 เพราะมีการประกาศนโยบายการรับนักเรียนไปแล้วอาจถูกฟ้องร้องได้ แต่จะนำไปศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวผูกพันกับงบประมาณ อัตรากำลัง และอาคารสถานที่.