ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สพฐ.เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ไม่ฟิกเวลาตายตัว

3 เม.ย. 2558 10:49 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สพฐ.เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ไม่ฟิกเวลาตายตัว

        สพฐ. เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ ไม่ฟิกเวลาตายตัว เน้นวิชาหลักและกำหนดเวลาเฉลี่ยเรียนครบภายใน 3 ปี “กมล” ระบุเห็นด้วยแนวทาง รมว.ศึกษาฯ ให้โละสอบ LAS เผยเตรียมนัดถกหน่วยงานจัดกิจกรรมในวันที่ 9 เม.ย. นี้
       
       นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สพฐ. เตรียมจะประกาศผลสอบคะแนนการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ (National Test : NT) ในระดับประถมศึกษา 3 และจะเร่งส่งไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลไปใช้ในการพัฒนานักเรียน ส่วนที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือ LAS (Local Assessment System : LAS) ซึ่งเป็นการทดสอบในระดับ ป.2 ป.3 มัธยมศึกษาปีที่ 4 และ ม.5 นั้น สพฐ. เห็นด้วยและมีแนวคิดจะยกเลิกอยู่แล้ว โดยวัตถุประสงค์ของการจัดสอบ LAS เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ แต่กลับทำให้โรงเรียนไปจริงจังกับการสอบ LAS มากเกินไป จนกลายภาระของเด็กต้องสอบมากขึ้นทั้งสอบปลายภาคและสอบ LAS ขณะเดียวกัน การสอบ LAS ก็ไปซ้ำซ้อนกับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ด้วยจงเห็นด้วยว่าควรยกเลิกไป
       
       “ในอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างเวลา เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดชัดเจนว่าต้องเรียนเฉลี่ยวิชาละกี่ ชั่วโมงต่อปี ก็จะไม่กำหนดเวลาเรียนในแต่ละวิชา แต่ต้องเรียนจนครบหลักสูตรที่กำหนดให้ได้ภายใน 3 ปี โดยเน้น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เป็นหลัก เพราะฉะนั้น บางปีเด็กอาจจะเรียนในบางวิชาน้อย เพราะไปเน้นวิชาอื่น ถ้าเอาLASเข้าไปวัดผลนั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจะกลายเป็นว่าเด็กได้คะแนนน้อยสู้ปล่อยให้วัดโอเน็ตตามช่วงชั้นทีเดียว น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า” นายกมล กล่าว
       
       เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ส่วน กรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ สพฐ. ไปหาแนวทางลดกิจกรรมนักเรียน ให้เหลือแค่ปีละ 10% ของเวลาเรียนทั้งหมดที่มีปีละ 200 วัน หรือเท่ากับ 20 วัน เพราะปัจจุบันพบว่านักเรียนต้องทำกิจกรรมนักเรียนถึง 84 วันนั้น ในวันที่ 9 เมษายนนี้ จะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียน มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางลดกิจกรรมนักเรียนลง โดยจะใช้วีธีบูรณาการกิจกรรมที่ลักษณะคล้ายกัน เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมลดโลกร้อน ให้จัดใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในช่วงเดือนที่นักเรียนสอบนั้น จะไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า สพฐ. จะไม่ไปปรับลกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ของนักเรียนลง ทั้งนี้ เมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว สพฐ. จะนำเรื่องนี้เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบด้วย

 

ที่มา : ผู้จัดการ