ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ดึงเคมบริดจ์ปรับหลักสูตรวิทย์-คณิต เน้นสร้างเด็กคิดวิเคราะห์เป็น

19 พ.ค. 2558 09:17 น.

ผู้อ่าน

ศธ.จับมือ สสวท.ติดต่อ ม.เคมบริดจ์ช่วยปรุงหลักสูตรวิทย์-คณิต เล็งทบทวนการสอน ปรับข้อสอบใช้ข้อเขียนเพิ่มขึ้น เผยต้องไม่ลืมสร้างเด็กคิดวิเคราะห์เป็น หลัง OECD ประเมินไทยได้อันดับ 47 ตามหลังเวียดนาม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ผช.รมต. ประจำ ศธ.) กล่าวว่า จากการจัดอันดับโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีที่สุดในโลกของ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ได้ โดยวิเคราะห์ผ่านคะแนนสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 15 ปี ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 76 ประเทศนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ติดต่อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้เข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้ง 2 วิชาให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยจะต้องตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกจากหลักสูตรการเรียนการสอน เพิ่มความละเอียดของเนื้อหาในสิ่งที่ต้องเรียนรู้และมีความจำเป็น เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างมั่นคง ขณะนี้ได้มีการติดต่อประสานงานเรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ผ่านใน 1 เดือนข้างหน้า

นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า หาก ศธ.เริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จะต้องมีการปรับตำราเรียนใหม่ให้มีคุณภาพมากขึ้น อบรมครูไม่ให้สอนเฉพาะในหนังสือเท่านั้น พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องไปกับการพัฒนา รวมถึงการประเมินผลการทดสอบต้องเน้นไปในทางคิดวิเคราะห์ อาจจะมีการปรับให้ใช้ข้อสอบแบบข้อเขียนมากขึ้น หากแบบทดสอบยังเป็นแบบเดิมจะทำให้การปรับเปลี่ยนทั้งหมดไม่เกิดผล ครูหรือสถาบันกวดวิชายังสอนในรูปแบบรองรับแบบทดสอบลักษณะเดิม ทั้งนี้ การเข้ามาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่ได้เข้ามาเพื่อปรับหลักสูตรให้ทั้งหมด เพียงแต่เข้ามาศึกษาตัวหลักสูตรและแนะนำเสริมแต่งส่วนที่ ศธ.ยังขาดตกอยู่เท่านั้น รวมถึงศึกษาแบบทดสอบทั้ง 2 วิชา ว่าเป็นรูปแบบสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เด็กหรือไม่

"เรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมีระยะเวลาในตัวเองอยู่แล้ว การดำเนินการนี้ถือเป็นการทบทวนหลักสูตร เพื่อปรับเล็ก ทำให้หลักสูตรที่ดีอยู่แล้วดีขึ้นไปอีก ปรับสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างกระบวนการคิดของเด็ก ผมคิดว่าการเน้นให้เด็กได้ทำข้อสอบแบบเขียน จะทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิดไปในตัว หรือจะใช้ข้อสอบในแบบที่ สสวท.กำลังใช้อยู่ คือเป็นข้อสอบแบบมีตัวเลือก แต่มีช่องให้เติมเหตุผลของผู้สอบว่าทำไมถึงเลือกข้อนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเริ่มต้น เพราะข้อสอบแบบตัวเลือกไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่ต้องใส่การคิดวิเคราะห์ด้วย" ผช.รมต.ประจำ ศธ.กล่าว.

 

 

ที่มา : ไทยโพสต์