ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

การจัดสอบ

U-NET คือ

ผู้อ่าน

 การจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา 

(University National Education Test : U-NET)

 

ความเป็นมา

        ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 9 กระบวนการจัดการศึกษาให้มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่ สถานศึกษา  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา   และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา และมาตรา 26 วรรค 2  ให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ    และให้นำผลการประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย  ตลอดจนมาตรา 47   ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก

        ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 กำหนดให้สถาบันดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย พัฒนา และให้บริการทางการประเมินผลทางการศึกษาในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยให้สถาบันมีอำนาจหน้าที่หลักดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบ  วิธีการทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษาในด้านคุณภาพผู้เรียน  รวมทั้งประเมินผลการจัดการศึกษาและการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ในทุกระดับและประเภทการศึกษา โดยในปี พ.ศ. 2549  ได้เริ่มจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET)  ต่อมาในปี พ.ศ. 2553   ได้จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา(Vocational National Education Test : V-NET) ทั้งระดับ ปวช. 3 และระดับ ปวส. 2

       ทั้งนี้ สทศ. ได้เริ่มพัฒนาระบบ วิธีการทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานบัณฑิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยในปีการศึกษา 2557 จะนำร่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (University National Education Test : U-NET)

 

วัตถุประสงค์ของการทดสอบ U-NET

1.  เพื่อเป็นการทดสอบและประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)
2.  เพื่อใช้ในการประกันคุณภาพภายใน และการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา
3.  เพื่อนำผลการทดสอบมาตรฐานคุณภาพบัณฑิต ประกอบกับบริบทและสภาพแวดล้อมในการจัดการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา

 

องค์ประกอบการทดสอบ U-NET

        องค์ประกอบการทดสอบ U-NET เน้นการทดสอบความรู้ ความสามารถ และทักษะการปฏิบัติงานของบัณฑิต มี 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา (สำหรับทุกสาขาวิชา)

        - การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

        - การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

        - การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)

        - การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา  และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)

2.  ด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้ความสำคัญกับการทดสอบเหตุผลเชิงจริย-ธรรม (Moral Reasoning)

3.  ด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา โดย สทศ. จะทำความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ  เพื่อนำผลการทดสอบและผลการประเมินที่มีคุณภาพมีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชามาใช้ เช่น การได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของสาขาวิชาต่างๆ ส่วนในกรณีที่สาขาวิชาใดยังไม่มีสภาวิชาชีพหรือสมาคมวิชาชีพ ทาง สทศ. จะขอความร่วมมือกับสภาคณบดีและที่ประชุมคณบดีเพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดด้านทักษะวิชาชีพของแต่ละสาขาวิชา

        ทั้งนี้ สทศ. ยึดหลักการใช้ผลการทดสอบและผลการประเมินที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพที่มีอยู่และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ และศึกษาเครื่องมือวัดจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบและประเมินผล

 

ขั้นตอนการดำเนินงานของ สทศ.

สทศ.ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา ดังนี้  

1. ศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบการทดสอบระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) และองค์ประกอบในการวัดคุณภาพบัณฑิตอย่างรอบด้าน

2.   จัดเวทีเสวนาให้ผู้วิจัยได้นำเสนอผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ U-NET พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1  เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555  หัวข้อ “การติดตามคุณภาพบัณฑิต (U-NET)”  และครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556  หัวข้อ “U-NET กับ TQF”)

3.   เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2555 สทศ. จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)  กับศูนย์เครือข่ายของ สทศ.  ทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ (ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.ลัยบูรพา ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ โดยเฉพาะ U-NET และเป็นการเตรียมความพร้อมของระบบ E-Testing สำหรับการจัดการทดสอบ U-NET ด้วย

4.  แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดแนวทางการจัดการทดสอบ U-NET พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอุดมศึกษา เพื่อกำหนดกรอบมาตรฐานการทดสอบ U-NET ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)

5. จัดประชุมผู้แทนจากสภาวิชาชีพ  สมาคมวิชาชีพ  และสภาคณบดี ที่ประชุมคณบดี  เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางในการจัดการทดสอบ U-NET

6. คณะทำงานสรุปองค์ประกอบของการทดสอบ U-NET ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)  มี 3 ด้าน ดังนี้

        ด้านทักษะวิชาชีพ ด้านการวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทศโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical  Thinking) ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Moral Reasoning)

7.   สำรวจนักวิจัยและผลงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 112 แห่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ U-NET

8.   แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบมาตรฐานและคณะทำงานสร้างและกลั่นกรองการทดสอบ U-NET

9.   การจัดการทดสอบ U-NET จะเริ่มนำร่องในปีการศึกษา 2557 โดยเริ่มต้นด้วยการทดสอบวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)   การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) สำหรับนิสิตนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่สมัครใจสอบ ส่วนในปีการศึกษาถัดไปจะดำเนินการจัดการทดสอบอีก 2 ด้าน (ด้านทักษะวิชาชีพและด้านคุณธรรม จริยธรรม) ให้ครบทั้ง  3  องค์ประกอบของ U-NET  และจะดำเนินการจัดการทดสอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกต่อไปในอนาคต

 

การนำ U-NET ไปใช้ประโยชน์

1. ระดับผู้เรียน

     ในการนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้ได้ตามมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

2. ระดับสถานศึกษา

     ในด้านการประกันคุณภาพการศึกษาวางแผนระบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

3. ระดับชาติ

     มีผลต่อการประเมินคุณภาพภายในและภายนอกของสถานศึกษา ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ตลอดจนคุณภาพของบัณฑิตเทียบเคียงกับระดับนานาชาติ

 

---------------------------------------------------------

FAQ เกี่ยวกับการสอบ U-NET

---------------------------------------------------------