ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยส่งเสริมการนำผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

27 ก.ค. 2558 15:13 น.

ผู้อ่าน

1. หลักการและเหตุผล

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีคุณูปการหาที่สุดมิได้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง จากการที่พระองค์โดยเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จ       พระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎร และทราบว่า เยาวชนในชนบทส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาทุพโภชนาการ ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาด้านการศึกษา เพราะเมื่อเด็กเยาวชนมีสุขภาพไม่ดี ย่อมไม่สามารถรับการศึกษาได้ดี จึงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โดยให้เริ่มดำเนินการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ต่อมาทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเด็กนักเรียนโดยพระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี มีสติปัญญาที่จะศึกษาต่อไปได้ ให้ได้รับการศึกษาต่อจนถึงขั้นสูงสุด ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาต่อไปได้ รวมทั้งพวกไม่มีสัญชาติ ก็มีพระราชประสงค์ให้ฝึกอาชีพที่สามารถใช้ได้ในท้องถิ่นนั้น

กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินงานและสนองงานโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีที่ตั้งกระจายตามแนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ ปัจจุบัน มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัด ๒๐๔ แห่ง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ๒๐๒ แห่ง ในจำนวนนี้ มีโรงเรียนขยายโอกาส ๒ แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (ม.๑-๖) ๒ แห่ง และมีศูนย์การเรียนรู้ ตชด.อีก ๑๖ แห่ง ครูของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหลายแห่ง เป็นตำรวจตระเวนชายแดน และจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางการจัดกิจกรรมการเรียนสอน รวมถึงการวัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน อย่างต่อเนื่อง

การส่งเสริมและพัฒนาให้ครูมีทักษะการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการนำผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นให้โรงเรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการนิเทศ กำกับติดตาม ด้วยระบบพี่เลี้ยงและการกำกับติดตาม (Coaching and Monitoring) ระหว่างครู  ครูใหญ่ รวมทั้งตำรวจนิเทศก์ ที่เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานต้นสังกัด (กศ.บช.ตชด.) โดยประสานสถาบันอุดมศึกษาเพื่อร่วมเป็นคู่พัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานขณะปฏิบัติการสอน (on the job training) เน้นการพัฒนาทักษะการวัดประเมินผลของครูให้มุ่งไปที่การพัฒนาความรู้ของผู้เรียน ที่จำเป็นตามระดับชั้น และจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑) ซึ่งเป็นคุณภาพของผู้เรียนแต่ละช่วงชั้นที่ครอบคลุมความสามารถและทักษะ ตลอดจนคุณลักษณะที่จะช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีคุณภาพบรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของประเทศ และสอดรับกับนโยบายการจัดการศึกษาในการพัฒนาคนของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การรวมตัวเป็นภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทย

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ ๕ รอบ  ๒ เมษายน ๒๕๕๘  โดยส่งเสริมการนำผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ กองการศึกษา กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กำกับดูแลงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับครู และ ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่

2. วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อส่งเสริมการนำผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) ไปพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
  2. เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลผลการเรียนรู้ 

3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการบริหารเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
  2. ครูมีสมรรถนะด้านการวัดและประเมินผลผลการเรียนรู้ ในชั้นเรียนดีขึ้น โดยเฉพาะทักษะการเขียนข้อสอบและการทำแบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา (ปพ.๕)

4. แนวทางการดำเนินงาน

ส่งเสริมและพัฒนาให้ครูมีทักษะในการวัดประเมินผลด้วยการนำผลการทดสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นให้โรงเรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการนิเทศ กำกับติดตาม ด้วยระบบพี่เลี้ยงและการกำกับติดตาม (Coaching and Monitoring) ระหว่างครู ครูใหญ่ ตำรวจนิเทศก์ และ หน่วยงานต้นสังกัด โดยมีขอบเขตและวิธีการดำเนินงาน ดังนี้
  1. ประชุมปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ไปพัฒนาการเรียนการสอน และการบริหาร
  2. กำกับ ติดตาม และการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  3. รายงานสรุปผลกิจกรรมการดำเนินโครงการ ฯ

5. เป้าหมาย

เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ
  1. ครูใหญ่ และ ครูทุกคนที่สอน ๕ วิชา (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และ ภาษาอังกฤษ) ของโรงเรียน ตชด.ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
  2. ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. ครูวิชาการ ตำรวจนิเทศก์ และ ผู้กำกับกองบังคับการ ฯ ที่รับผิดชอบ โรงเรียน ตชด. ทุกแห่ง ทั่วประเทศ
  3. อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ในพื้นที่ ที่ร่วมพัฒนา โรงเรียน ตชด.
  1. ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O- NET) ในปีการศึกษาถัดไปสูงขึ้นกว่าเดิม โดยการนำผลการทดสอบ ทางการศึกษาแห่งชาติขั้น พื้นฐาน (O-NET) ไปใช้ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการจัดการศึกษา
  2. ครูมีสมรรถนะการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ดีขึ้น พิจารณาจาก
    • แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน บันทึกผลการเรียน เป็นรายวิชา (ปพ.๕)
    • ข้อสอบที่ครูใช้สอบถูกต้องตามหลักคุณลักษณะที่ดีของ ข้อสอบ
    • ครูมีความรู้ความสามารถในการแปลผลข้อมูลและ สารสนเทศของการทดสอบได้ถูกต้อง
    • มีการนำข้อมูลและสารสนเทศของผลการทดสอบ O-NET ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน

6. รูปแบบการจัดกิจกรรม ระยะเวลา และ สถานที่

รูปแบบการจัดกิจกรรม

การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยการนิเทศ กำกับ ติดตาม เป็นการดำเนินงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือ เป็นการทำงานร่วมกันที่บุคลากรภายในโรงเรียนทุกคนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ด้วยเทคนิคการนิเทศ (Coaching) แบบพาคิด พาทำ และพานำไปใช้ ตามขั้นตอนการจัดกิจกรรม ดังนี้

ประชุมปฏิบัติการ 2 วัน (พาคิด – พาทำ)

  1. Workshop เพื่อสะท้อนความคิดสำคัญเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) การวิเคราะห์ผลการทดสอบ (O-NET) และ ความเชื่อมโยงของกระบวนการจัดการศึกษา
  2. นำผลจากการคิดในข้อ ๑ มาฝึกปฏิบัติทำใบงาน และทบทวน แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา (ปพ.๕) 

กิจกรรมหลังจากการประชุมปฏิบัติการ ที่ต้องดำเนินการ (พานำไปใช้)

  1. การส่งผลงาน
    • ครูนำความรู้จากการประชุม ฯ ไปปฏิบัติต่อในโรงเรียน จนครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมาย
    • ครูใหญ่โรงเรียน หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย กำกับ ติดตามให้การปฏิบัติงานบรรลุตามเป้าหมาย
    • ตำรวจนิเทศก์ กองกำกับการ ตชด. ติดตามให้มีการส่งงาน On line ให้ สทศ. และ หรือ อาจารย์สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ สะท้อนผลงาน
  2. การสะท้อนความคิด สทศ. สะท้อนความคิดเห็นของงานกลับไปยังผู้ส่งงาน On line และ/หรือ อาจารย์สถาบัน อุดมศึกษาในพื้นที่ สะท้อนผลให้กับครูในโรงเรียนในพื้นที่
  3. สรุปประสบการณ์ เตรียมความพร้อมก่อนสอบ O-NET ประชุมนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๑ วัน

การจัดกิจกรรม ระยะเวลา และ สถานที่

*กิจกรรมและระยเวลาอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

7. กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ 

  1. ผู้บริหารโรงเรียนได้แนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการสังเคราะห์จากกระบวนการปฏิบัติงานของครูผู้สอน
  2. หน่วยงานต้นสังกัดได้แนวทางการยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของโรงเรียน ภายใต้การกำกับของหน่วยงานต้นสังกัด

8. พื้นที่ดำเนินการ

จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครพนม จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา
กก.ตชด. 12 กก.ตชด. 23 กก.ตชด. 33 กก.ตชด. 43

9. งบประมาณ

  1. สถาบันทดสอบ ฯ สนับสนุนงบประมาณด้านวิทยากร เอกสารวิชาการ และค่าอาหารสำหรับการจัดประชุมปฏิบัติการ ตามงบประมาณจัดสรร ปีงบประมาณ 2558 – 2559
  2. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สนับสนุนสถานที่จัดประชุม ค่าที่พักและค่าเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ในพื้นที่

10. การติดตามและประเมินผล

วิธีการติดตามประเมินโครงการ ฯ ประเมินผลโดยคณะกรรมการดำเนินงาน ฝ่ายประเมินผล จาก
  • การศึกษาเอกสารรายงานข้อมูลของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 
  • การติดตามการนำความรู้จากการอบรมไปพัฒนาการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยใช้รูปแบบการส่งงานออนไลน์ของครู ผ่าน website NIETS โครงการส่งเสริมการนำผลการทดสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา
  • ผลการทดสอบก่อน และหลังการอบรมปฏิบัติการ 
  • การรายงานนำผลการดำเนินงานโครงการ ฯ