สทศ. ร่วมกับ กองบังคับการ ตชด. ภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมเชิงวิชาการการนำผลสอบ O-NET ไปสู่การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
17 ส.ค. 2558 13:57 น.
ผู้อ่าน
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยการส่งเสริมการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนแบบครูมืออาชีพ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ณ กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า การประชุมเชิงวิชาการการนำผลสอบ O-NET ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นความร่วมมือระหว่าง สทศ. และ กองบังคับการ ตชด. ภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีโรงเรียน ตชด. ที่เข้าร่วม จำนวน 69 แห่ง
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อที่สำคัญ คือ (1) เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (2) การส่งเสริมการนำผลการทดสอบ O-NET เป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัด 204 แห่ง (ทั่วประเทศ) โดย สทศ.จัดโครงการแบ่งออกเป็น 4 ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ กองบังคับการ ตชด. ภาค 2 จังหวัดขอนแก่น (จำนวนโรงเรียน 48 แห่ง)
ครั้งที่ 2 ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ร่วมกับ กองบังคับการ ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (จำนวนโรงเรียน 45 แห่ง)
ครั้งที่ 3 ภาคเหนือ ร่วมกับ กองบังคับการ ตชด. ภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ (จำนวนโรงเรียน 69 แห่ง)
ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ร่วมกับ กองบังคับการ ตชด. ภาค 4 จังหวัดสงขลา (จำนวนโรงเรียน 42 แห่ง)
แนวทางการดำเนินโครงการ สทศ.ส่งเสริมและพัฒนาให้ครูมีทักษะในการวัดและประเมินผลด้วยการนำผลสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นให้โรงเรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการนิเทศ กำกับติดตาม (Coaching and Monitoring) ซึ่ง สทศ.ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจัดทำระบบนิเทศ ONLINE เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานต่างๆ ระหว่าง สทศ.และสถานศึกษา
ประโยชน์ที่จะได้รับ มีดังนี้
(1) ครูมีสมรรถนะด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนดีขึ้น โดยเฉพาะทักษะการทำแบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา (ปพ.5) และการเขียนข้อสอบ
(2) ครูและผู้บริหารโรงเรียนนำผลสอบ O-NET ไปเป็นกลไกในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการบริหารเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

