คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ตรวจเยี่ยมศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย O-NET ป.6 ปีการศึกษา 2563 พร้อมให้กำลังใจครูผู้ตรวจข้อสอบอัตนัย ณ ศูนย์ตรวจมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
29 มี.ค. 2564 16:01 น.
ผู้อ่าน
.jpg)
วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ศ.ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์) ผู้อำนวยการ สทศ. (ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ) ตรวจเยี่ยมศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัยประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์) ให้การต้อนรับ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 5 แล้วที่ สทศ. ได้นำข้อสอบรูปแบบอัตนัยมาใช้ในการทดสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ และสรุปใจความสำคัญ ซึ่งนำไปใช้ในการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ โดยในอนาคตเห็นว่าควรนำข้อสอบรูปแบบอัตนัยไปปรับใช้ในวิชาอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่ต้องพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องฝึกให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ การผลักดันให้เรียน Coding ในทุกระดับชั้น ซึ่งการเรียน Coding จะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และสามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน มีการวางแผน ซึ่งหากจะให้เรียนวิชาใดก็ตาม ต้องให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้วิชาที่เรียน สามารถแก้ปัญหาได้ สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย และในโอกาสที่ได้มาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ ขอขอบคุณและให้กำลังใจครูผู้ตรวจอัตนัยทุกท่านที่เสียสละเวลาเข้ารับการอบรมและเข้าร่วมการมาตรวจข้อสอบอัตนัยในครั้งนี้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ร่วมเป็นศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย และอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การตรวจเป็นไปตามมาตรฐานของ สทศ.
.jpg)
ผู้อำนวยการ สทศ.(ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ) กล่าวว่า การทดสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 มีข้อสอบรูปแบบอัตนัย จำนวน 2 ข้อ รวม 20 คะแนน ได้แก่ ข้อที่ 33 เขียนเรื่องจากภาพ และข้อที่ 34 เขียนสรุปใจความสำคัญของบทอ่าน โดยวัดสาระการเขียน มาตรฐาน ท 2.1 ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศ และรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีการศึกษา 2563 สทศ. ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์ตรวจมหาวิทยาลัย ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2) มหาวิทยาลัยบูรพา (3) มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตพระราชวัง สนามจันทร์) (4) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (5) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ (6) มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการเป็นศูนย์ตรวจฯ โดยในปีนี้ มีผู้มีสิทธิ์สอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 555,635 คน มีกระดาษคำตอบอัตนัย จำนวน 2,222,540 แผ่น มีครูผู้ตรวจประมาณ 1,200 คน (กระดาษคำตอบ 1 แผ่น ครูผู้ตรวจ 2 คน) แบ่งเป็นครูผู้ตรวจข้อที่ 33 จำนวน 700 คน และครูผู้ตรวจข้อที่ 34 จำนวน 500 คน โดยศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัยประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นศูนย์แรกในจำนวน 6 ศูนย์ตรวจ ซึ่งตรวจข้อที่ 33 เขียนเรื่องจากภาพ และข้อที่ 34 เขียนสรุปใจความสำคัญของบทอ่าน โดยเริ่มดำเนินการตรวจระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2564 ปริมาณกระดาษคำตอบจำนวน 367,000 แผ่น ครูผู้ตรวจทั้งหมด 200 คน ซึ่งภายหลังภายหลังการตรวจข้อสอบอัตนัยของศูนย์ตรวจแต่ละแห่ง สทศ. จะทำการรวบรวมการใช้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการตอบข้อสอบ O-NET รูปแบบอัตนัย เพื่อสะท้อนให้โรงเรียน ครู นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ได้นำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งนำไปปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ สทศ. มีกำหนดการประกาศผลสอบ O-NET ป.6 ในวันที่ 21 เมษายน 2564 ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th

รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์) กล่าวว่า สำหรับศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัยประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นศูนย์ตรวจศูนย์แรกที่จะดำเนินการตรวจข้อสอบอัตนัยให้กับ สทศ. โดยมหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและถือเป็นโอกาสสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการตรวจข้อสอบอัตนัย ทั้งในเรื่องของสถานที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อการตรวจข้อสอบอัตนัยของ สทศ. มีมาตรฐานและเป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ


.jpg)
.jpg)