ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ปฏิรูปหลักสูตรเรียนสอนยึดแนว PISA

24 ก.พ. 2559 10:40 น.

ผู้อ่าน

ภาพ ปฏิรูปหลักสูตรเรียนสอนยึดแนว PISA

นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ)การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวภายหลังการประชุมด้านการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับแม่น้ำ 3 สาย สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สนช. ว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบว่าต้องปฏิรูประบบหลักสูตรการเรียนการสอน คือ “ปรับวิธีการเรียน เปลี่ยนวิธีการสอน” เนื่องจากในปัจจุบันมีการทดสอบประเมินผลนานาชาติ (PISA) หรือแม้แต่การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ก็ออกแบบข้อสอบให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งการเรียนการสอนในปัจจุบัน จะเน้นให้เด็กรู้ในทุกด้าน ทุกอย่าง และเด็กก็จะจำเนื้อหาไปสอบ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยการสอนให้เด็กเข้าใจถึงแกนของสาระในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ เช่น สอนให้เด็กปั่นจักรยาน เมื่อเด็กปั่นได้แล้วก็จะเข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่างโซ่ ล้อ และแรงที่ใช้ในการปั่น ไม่ใช่การสอนในเรื่องการปั่นจักรยานว่าต้องมีจักรยาน มีล้อ มีเบาะนั่ง เป็นต้น

"ฉะนั้น จึงต้องเปลี่ยนระบบหลักสูตร เปลี่ยนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยจะมีการวัดและประเมินผลตั้งแต่ต้นทาง การวัดและประเมินผลเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ฉะนั้น การประเมินต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของการปฏิรูปทั้งหมดก็ว่าได้ โดยการปรับหลักสูตรในครั้งนี้ อันไหนที่เกินเอาออก ที่ไม่พอเอาใส่ ที่เป็นนโยบายเอามาเพิ่ม" นายตวงกล่าว

นายตวงกล่าวต่อว่า ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนจาก สปช. สปท. และ ศธ. คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยต้องการให้เพิ่มเนื้อหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรม การรักชาติ ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ และประชาธิปไตย บรรจุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะทำงานด้านหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ ศธ.ที่มีอยู่แล้ว แต่จะร่วมกันเติมเต็มหลักสูตรใหม่ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

"ผมอยากเสนอให้ ศธ.ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มาประยุกต์ใช้ เพราะถือเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการศึกษาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ส่วนการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนประกาศใช้หลักสูตรเพื่อทำความเข้าใจให้แก่ โรงเรียนและครูได้รับทราบก่อนนั้น ผมมองว่าไม่จำเป็น เพราะในการทำครั้งนี้เป็นเพียงกระบวนการปรับหลักสูตรไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน แปลงมาก เพียงเพิ่มเติมเนื้อหาและการแนะแนวเข้าไปเท่านั้น ผมคิดว่าหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่จะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน พร้อมใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 เพราะไม่มีความยากซับซ้อนอะไร และการทบทวนหลักสูตรเราจะต้องเร่งทำ และการปรับหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงการเรียนการสอนของเด็กในอนาคตด้วย เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา" ประธาน กมธ.การศึกษาและกีฬา สนช.กล่าว. 

 

ที่มา : ไทยโพสต์