ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สพฐ.ย้ำ สอบ ม.1 ต้องโปร่งใส ปลอดแป๊ะเจี๊ยะ ร.ร.ชื่อดังยังได้รับความนิยม

28 มี.ค. 2559 10:36 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สพฐ.ย้ำ สอบ ม.1 ต้องโปร่งใส ปลอดแป๊ะเจี๊ยะ ร.ร.ชื่อดังยังได้รับความนิยม

สพฐ.ย้ำจัดสอบเข้า ม.1 โปร่งใส ยุติธรรม ปลอดแป๊ะเจี๊ยะ ร.ร.ชื่อดังยังได้รับความนิยม เนื่องจากผลการเข้ามหาวิทยาลัยของ นร. ต่างจังหวัด ร.ร.เฉลิมพระเกียรติ-ร.ร.จุฬาภรณฯ เป็นตัวเลือก ผู้ปกครองส่งลูกเข้าสอบ ไม่ต้องมาไกลถึง กทม.

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 59 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ ร.ต.อานนท์ เที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 เดินทางตรวจติดตามการสอบคัดเลือกนักเรียน ม.1 โรงเรียนอัตราการแข่งขันสูง

นายการุณ กล่าวว่า โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 282 โรง สอบพร้อมกันทั่วประเทศ มีที่นั่งรับได้ 141,000 คน สมัคร 352,500 คน อัตราการแข่งขัน 1:2.5 ส่วน ม.4 มีที่นั่งรับได้ 112,800 คน สมัคร 248,160 คน อัตราการแข่งขัน  1:2.20  ซึ่งได้กำชับให้โรงเรียนดำเนินการจัดสอบด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ปลอดการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ทั้งนี้ สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรับนักเรียนลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย เบื้อง ต้นภาพรวมการรับนักเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงในปีนี้มีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นเล็ก น้อย แต่ภาพรวมทั่วประเทศอัตราการแข่งขันโดยเฉลี่ยจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนใหญ่ใน ต่างจังหวัดยังเป็นที่นิยมของผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองจะดูจากอัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก และโรงเรียนเหล่านี้ก็มีตัวเลขนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่อนข้างดี ในส่วน ของกรุงเทพฯ โรงเรียนยอดนิยมยังได้รับความนิยมไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ในต่างจังหวัดเริ่มดีขึ้น ดูได้จากมีอัตราการแข่งขันสูงเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด เช่น โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมีตัวเลือกส่งลูกเข้าสอบในโรงเรียนในจังหวัด ไม่ต้องเข้ามาสอบในกรุงเทพฯ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า สพฐ.สามารถจัดสรรโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนได้ทุกคน โดยการสอบของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง จะประกาศผลและรายงานตัววันที่ 2 เม.ย.นี้ โรงเรียนทั่วไปจะสอบคัดเลือกวันที่ 3 เม.ย. ประกาศผลวันที่ 7 เม.ย. และโรงเรียนที่มีการจับสลาก จะจับสลากในวันที่ 3 เม.ย. ซึ่งมีจำนวน 18 โรง ใน กทม. มี 5 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร.ร.นวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า, ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 และ ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี ส่วนต่างจังหวัดมี 13 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.บางบัวทอง ร.ร.เบญจมราชานุสรณ์ ร.ร.ปากเกร็ด, ร.ร.รัตนาธิเบศร์ ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี ร.ร.เสาไห้ "วิมลวิทยานุกูล" จ.สระบุรี ร.ร.นราธิวาส จ.นราธิวาส ร.ร.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ ร.ร.แก้งคร้อวิทยา ร.ร.ชัยภูมิชุมพล ร.ร.ภูเขียว ร.ร.สตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ

นอกจากนี้ หลังจากที่มีการสอบคัดเลือกและจับสลากแล้ว เด็กยังไม่มีที่เรียน สามารถยื่นคำร้องให้จัดหาที่เรียนได้ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือโรงเรียนใกล้บ้านระหว่างวันที่ 6-10 เม.ย.นี้ โดยจะประกาศผลการจัดหาที่เรียนให้ และรายงานตัว วันที่ 17 เม.ย.นี้.