ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ผอ. สทศ. บรรยายพิเศษ เรื่อง การนำการทดสอบระดับชาติสู่ระดับสากล “โครงการ ITEM BANK” ให้แก่คณะศึกษาดูงาน ม.พะเยา

11 พ.ย. 2559 14:46 น.

ผู้อ่าน

ภาพ ผอ. สทศ. บรรยายพิเศษ เรื่อง การนำการทดสอบระดับชาติสู่ระดับสากล “โครงการ ITEM BANK” ให้แก่คณะศึกษาดูงาน ม.พะเยา

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 คณาจารย์ นิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา วิทยาลัยการศึกษา ได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการทดสอบสำหรับการจัดทำเป็นระบบคลังข้อสอบในรายวิชาชีพครู เพื่อเป็นแนวทางจัดทำคลังข้อสอบต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์  พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง การนำการทดสอบระดับชาติสู่ระดับสากล “โครงการ ITEM BANK” กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2558 สทศ.จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ 19 ประเภทการสอบ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ 3,311,751 คน มีศูนย์สอบ 12,750 ศูนย์ มีสนามสอบ 17,587 สนาม มีห้องสอบ 118,651 ห้อง และมีข้อสอบ 6,415 ข้อ ทั้งนี้ ในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ได้ยึดตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติของ สทศ. ที่เทียบเท่าสากล 5 มาตรฐาน ดังนี้

1.   มาตรฐานบุคลากรด้านการทดสอบ

เป็นมาตรฐานเพื่อประกันคุณภาพว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ ประกอบด้วย ผู้ออกข้อสอบ ผู้กลั่นกรองข้อสอบ (ด้านเนื้อหา ด้านวัดและประเมินผล ด้านภาษา) ผู้บริหารการทดสอบระดับศูนย์สอบและระดับสนามสอบ ตลอดจนผู้คุมสอบ มีคุณภาพ มีคุณสมบัติและหน้าที่ตามมาตรฐานสากล โดยมีจุดเน้นต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการออกข้อสอบ ทั้งนี้  สทศ. ได้ให้ครู (ระดับสถานศึกษา) ออกข้อสอบเพื่อประกันว่า ข้อสอบออกตามหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ไม่ได้ออกเกินหลักสูตรฯ  ครูของครู (คณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยเป็นผู้กลั่นกรองระดับที่ 1) และครูของครูของครู (นักวิชาการ/คณาจารย์มหาวิทยาลัย/ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้กลั่นกรองระดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ)

2.   มาตรฐานด้านการพัฒนาแบบทดสอบ

เป็นมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพว่า แบบทดสอบที่ใช้ในการวัดและประเมินมีการพัฒนาอย่างมีระบบ มีขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานเชื่อถือได้ มีสารสนเทศเชิงประจักษ์ และเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพด้านความตรง ความเที่ยง และมีความยุติธรรม สทศ. ได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องมาร่วมการสร้างและพัฒนาแบบทดสอบโดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดตัวชี้วัดต้องรู้/ตัวชี้วัดที่สำคัญที่ใช้ออกข้อสอบ คุณลักษณะเฉพาะของแบบทดสอบ (Test Specification) รูปแบบข้อสอบ ทั้งนี้ ได้เผยแพร่ตัวอย่างกระดาษคำตอบ, Test Blueprint, Test Specification, รูปแบบข้อสอบ, ตัวอย่างข้อสอบล่วงหน้าก่อนสอบ ทางเว็บไซต์ สทศ. เพื่อให้ครูและนักเรียนรับทราบและเตรียมความพร้อมอย่างมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะมีการกำหนดให้ใช้ Item Card (บัตรข้อสอบ) ในการออกข้อสอบแต่ละข้อ เพื่อให้ข้อสอบมีความตรง (Validity) ที่ต้องการวัด และให้เขียนอธิบายตัวถูกและตัวผิด เพื่อประกันความถูกต้องของการเฉลย นอกจากนี้ ในแต่ละปี สทศ. ได้มีการประเมินคุณภาพของข้อสอบและนำมาปรับปรุงการสร้างและพัฒนาข้อสอบในปีถัดไปให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ระบบการสร้างข้อสอบแบบ PDCA

3.   มาตรฐานด้านการบริหารการทดสอบ

เป็นมาตรฐานเพื่อประกันว่าระบบการบริหารการทดสอบมีความชัดเจน ปฏิบัติได้จริง มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ในระดับชาติและระดับนานาชาติ ทั้งนี้ สทศ.ได้จัดทำระเบียบสถาบันฯ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ.2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อนักเรียน บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน

นอกจากนี้ สทศ. ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่าย สทศ. ประจำภูมิภาค 9 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร) ภาคกลาง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ภาคตะวันออก (มหาวิทยาลัยบูรพา) ภาคใต้ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)

4.   มาตรฐานด้านการพิมพ์ข้อสอบ การรับ/ส่ง การตรวจให้คะแนน และการประเมินผลเป็นมาตรฐาน

เพื่อประกันคุณภาพว่า ระบบการพิมพ์ แบบทดสอบ และกระดาษคำตอบ มีการควบคุมและกำกับการดำเนินงานอย่างมีขั้นตอนที่ชัดเจน มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเก็บรักษาความลับอย่างรัดกุม มีกระบวนการตรวจให้คะแนนที่ถูกต้องมีระบบชัดเจนและตรวจสอบได้ โดยใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการตรวจสอบ ตรวจคะแนน และประมวลผล มีการรายงานผลด้วยคะแนนที่มีความหมาย และมีการแปลคะแนนอย่างเหมาะสมเทียบเทียงกับผลการทดสอบแต่ละครั้ง/ปี

5.   มาตรฐานด้านการรายงานผลและการนำผลไปใช้

เป็นมาตรฐานเพื่อประกันว่า คุณภาพการรายงานมีความถูกต้อง เหมาะสมเป็นธรรม สามารถนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ การสอน และการบริหารการศึกษา นอกจากนี้ ได้เผยแพร่ผลวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบนำเสนอต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ใบรายงานผลสอบ O-NET ในระดับตัวชี้วัด มาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้แกนกลาง ในแต่ละสาระ โดยจำแนกตามตัวแปร (ขนาดโรงเรียน ที่ตั้ง เขตพื้นที่ ศึกษาธิการจังหวัด/ภาค ภูมิภาค และประเทศ รายสาระ) มี 4 แบบ ได้แก่ รายบุคคล รายโรงเรียน (มี 6 ฉบับ) รายเขตพื้นที่ รายศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค รวมถึงเผยแพร่ผลวิเคราะห์ O-NET ส่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา/ เขตพื้นที่/ ศึกษาธิการจังหวัด/ ศึกษาธิการภาค เพื่อทราบและเป็นข้อมูลเปรียบเทียบและพัฒนาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง

ภายหลังการบรรยาย ผู้อำนวยการ สทศ. เปิดโอกาสให้คณะศึกษาดูงานซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการจัดทำคลังข้อสอบ (ITEM BANK) พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์

ภาพ ผอ. สทศ. บรรยายพิเศษ เรื่อง การนำการทดสอบระดับชาติสู่ระดับสากล “โครงการ ITEM BANK” ให้แก่คณะศึกษาดูงาน ม.พะเยา ภาพ ผอ. สทศ. บรรยายพิเศษ เรื่อง การนำการทดสอบระดับชาติสู่ระดับสากล “โครงการ ITEM BANK” ให้แก่คณะศึกษาดูงาน ม.พะเยา