ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สกศ. ระดมสมอง7ชาติถกนโยบายศึกษาอาเซียน

24 ส.ค. 2560 15:26 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สกศ. ระดมสมอง7ชาติถกนโยบายศึกษาอาเซียน

 

ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดการประชุมเสวนานโยบายการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - เอเชียตะวันออก โดยเรียนเชิญ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นางสาวแอน เบเรต คัฟลี (Ms. Anne Berit Kavli) ผู้แทนสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (IEA) และผู้แทนด้านจัดระบบการศึกษา 7 ประเทศคือ ผู้แทนประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เขตการปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย มาร่วมถ่ายทอดแลกเปลี่ยนแนวคิดการจัดระบบการศึกษา และปรับปรุงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับความรู้และทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแต่ละชาติ ภายหลังการประกาศผลโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเทียบกับนานาชาติ (TIMSS) และโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (PISA) เมื่อปี 2558 โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดค่าเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ผลการทดสอบนานาชาติ PISA เป็นตัววัดสัมฤทธิผลการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมวิชาการที่มีนักวิจัยระบบการศึกษาจากทั้ง 7 ชาติ ทาง สกศ. จะได้บูรณาการการมีส่วนร่วมจัดการทดสอบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ เทคโนโลยี เพื่อใช้ศึกษาวิจัยสัมฤทธิผลผู้เรียนกับการกำหนดทิศทางนโยบายและมาตรฐานการจัดการศึกษาชาติ และนำข้อมูลสังเคราะห์และวิเคราะห์แนวทางจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาของประเทศอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและทั้ง 7 ประเทศในอนาคต 

          

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนและปฏิรูปการศึกษารองรับประเทศไทย 4.0 ไม่ใช่แค่เน้นหนักด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเท่านั้น เพราะต้องส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ซึ่งเป็นทักษะใหม่ร่วมด้วย โดยเฉพาะการจัดระบบการศึกษาใหม่ที่ดึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เคยกล่าวถึงการเตรียมระบบการศึกษาสมัยใหม่เพื่อรองรับคลื่นความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลก ซึ่งต้องมองบริบทรอบด้านของประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านการศึกษารองรับทิศทางการศึกษาที่นำไปสู่การมีงานทำ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดช่วงวัยที่ไม่ใช่แค่วัยเด็ก แต่รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนวัยทำงาน และการฝึกอบรมรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสอดคล้องกันทั้งระบบ                       

 

ด้าน นางสาวแอน เบเรต คัฟลี ผู้แทน IEA กล่าวว่า การดำเนินงานของ IEA มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถและสมรรถนะด้านการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ครอบคลุม 57 ประเทศสมาชิก โดยใช้ฐานข้อมูลคะแนน TIMSS และ PISA เปรียบเทียบระหว่างประเทศ โดยเลือกประเมินผลการศึกษา 2 ช่วงคือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพื่อแสวงหาจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบการศึกษาแต่ละชาตินำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น สำหรับผลประเมินการศึกษาประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับฮ่องกงในระดับเอเชียด้วยกัน เนื่องจากนักเรียนไทยยังไม่สามารถนำความรู้ และใช้เหตุผลมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ปัญหาใหญ่ที่พบเหมือนกันคือสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลและนักเรียนยังยากจนย่อมส่งผลกระทบต่อผลการเรียนที่ด้อยกว่าสถานศึกษาที่อยู่ในเมืองใหญ่และนักเรียนมีฐานะร่ำรวยกว่าซึ่งเกิดขึ้นกับทุกประเทศ ดังนั้น จึงต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา 

 

“สิ่งที่ IEA ประเมินผลการศึกษาแต่ละชาติยังไม่สามารถลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ มากนัก แต่เป็นการชี้แนวโน้มและดัชนีชี้วัด โดยยึดบริบทระบบการศึกษาของแต่ละประเทศเป็นเกณฑ์พื้นฐาน และการวิเคราะห์ต่าง ๆ ต้องศึกษาอย่างรอบด้านทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพทั้งข้อมูลจากต่างประเทศและในประเทศนำมาเปรียบเทียบและปรับใช้ร่วมกันจึงจะเห็นแนวภาพแนวโน้มที่ดีของระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับประเทศนั้น”

 

ภาพ สกศ. ระดมสมอง7ชาติถกนโยบายศึกษาอาเซียน