ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

จาตุรนต์ ค้านข้อมูล สพฐ.อ่านไม่ออกลด

19 ส.ค. 2556 11:47 น.

ผู้อ่าน

'จาตุรนต์' ค้านข้อมูลสพฐ.อ่านไม่ออกลด แฉครูระบุเด็ก ป.6 อ่าน-เขียนไม่ได้ เวทีปฏิรูปชงปรับระบบแอดมิชชั่น...
 
จากการสัมมนาการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ:ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน และร่วมรับฟังข้อเสนอต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ตนคิดว่าต้องเร่งแก้ไขก็คือ การอ่านออกเขียนได้ และคิดวิเคราะห์เป็น หากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่เป็นย่อมส่งผลต่อการเรียนในทุกวิชา ซึ่งต้องคิดแก้ไขให้ได้ทั้งระบบ
 
จากนั้น สพฐ.ได้นำเสนอผลการประเมินทักษะด้านการอ่าน เขียน คิดคำนวณในช่วงปี การศึกษา 2551-2554 พบว่า นักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ลดลงทุกปี และขณะนี้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 2.55 จากเดิมร้อยละ 4.72 ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้นายจาตุรนต์ ได้ขอให้มีอภิปรายทันที โดยนายจาตุรนต์กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าจะเชื่อผลการประเมินได้แค่ไหน เพราะจากที่ตนได้พูดคุยกับครู อาจารย์หลายคนระบุว่าเด็ก ป.6 หรือแม้แต่ ม.1 บางคนยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
 
ด้าน รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้จะต้องตั้งคำถามก่อนว่าต้องการวางตำแหน่งของประเทศไทยไว้ตรงไหนของอาเซียน และสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งประเทศจึงจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรแค่ 12% ที่คิดนอกกรอบเป็นและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อีก 63% คิดเป็นแต่ทำอะไรไม่ได้เป็นผู้ตาม และอีก 25% คิดไม่เป็นทำอะไรไม่ได้ จึงต้องพัฒนาคนในกลุ่ม 63% และ 25% ให้ได้ การศึกษาไทยทุกวันนี้ เอื้อประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่มส่วนที่เหลือถือว่าเดินตามไปงั้นๆ แม้แต่การฝึกอบรมครูเองก็ทำแบบมั่วๆ ขอฝาก รมว.ศธ.ใน 3 ประเด็นคือ 1.ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตครูครั้งใหญ่ ทั้งประเทศ หาคนดีคนเก่งเข้าสู่ระบบ 2.ปรับวิทยฐานะของครูและผู้บริหารสถานศึกษา จากเดิมใช้การเขียนผลงานมาพิจารณาจากโครงงานที่ทำแทน 3.รื้อระบบการสอบแอดมิชชั่นใหม่ทั้งหมด
 
นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ว่า ฟันธงได้ว่าเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ คือการเพิ่มความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ภาษา และการคิดคำนวณ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ เชื่อมโยงสู่การปรับหลักสูตร และการทดสอบประเมินผล ส่วนเรื่องการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย มีความจำเป็นจะต้องปรับ และต้องเป็นระบบที่มีหลักประกันว่า คัดเลือกเด็กที่สามารถเรียนได้จริงๆ ขณะที่การสอบจะต้องมีความเท่าเทียม และที่สำคัญจะต้องไม่กระทบกับการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม ส่วนข้อเสนอของนักวิชาการที่ให้ใช้กลไกของงบประมาณมาใช้ในการปรับระบบการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่อาจจะไม่ง่ายนัก แต่จะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ฯลฯ จะต้องร่วมกันคิด.