ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

จี้ระบบแนะแนวปรับทัศนคติเด็กม.3เรียนสายอาชีพงานดีเงินอู้ฟู้!

19 ส.ค. 2556 11:58 น.

ผู้อ่าน

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า งานวิจัยจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกำลังคนสายอาชีพ เช่น ประเทศเยอรมนีพบว่า การให้นักเรียนสายสามัญเข้าไปเรียนรู้ในสถาบันอาชีวศึกษา ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง2 สัปดาห์ สามารถช่วยให้เด็กเข้าใจการเรียนสายอาชีพ และสนใจเลือกเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำแนวคิดนี้ไปศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อนำมาใช้กับนักเรียนมัธยมของไทยบ้าง เพราะอย่างน้อย ถ้าไม่สามารถส่งไปทดลองเรียน ก็อาจทำลักษณะโปรแกรมทัศนศึกษา ดูการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน
     "อยากให้นักเรียน ม.3หรือ ม.6ได้มีโอกาสไปเรียนในวิทยาลัยอาชีวะช่วงเวลาสั้น ในต่างประเทศเขาให้เด็กไปทดลองเรียน2 สัปดาห์ หรือ 1เดือน เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ว่าเขาเรียนอะไรกันบ้าง และมีโอกาสที่เรียนจบแล้วมีงานทำ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติและสร้างค่านิยมใหม่ว่า เรียนสายอาชีพจบออกมาแล้วมีงานทำ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ ต่อสายสามัญ เป็น 51:49" 
     รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า แม้ว่าจะต้องมีการดำเนินการหลายด้านไปพร้อมกัน เพื่อให้นโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญสุด คือต้องเปลี่ยนค่านิยมการเรียนสายอาชีพให้ได้ สื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้าใจว่า ผู้ที่เรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีโอกาสทำรายได้สูง กว่าผู้ที่จบปริญญาตรี ทั้งนี้ ในโรงเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนระบบแนะแนวด้วย และต้องทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่ให้แย่งเด็ก หรือปิดกั้นเด็กมาเรียนสายอาชีพ โดยระบบแนะแนวจะต้องปรับให้มีประสิทธิภาพ และต้องสื่อสารไปยังผู้ปกครองด้วย
     "มีความเป็นไปได้สูง ในการปรับสัดส่วนการเรียนสายอาชีพ เพราะกรรมการ กอศ.ในส่วนของภาคเอกชน ที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้ข้อมูลว่าต้องการแรงงานฝีมือ ปีละ 1-2 แสนคน และภายใน5ปี ต้องการกว่า5แสนคน ซึ่งหากมาดูจำนวนเด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น มีประมาณ 8-9 แสนคนต่อปี ดังนั้นหากมีการจัดระบบที่ดี ก็สามารถสนองตอบต่อความต้องการภาคเอกชนได้ และตัวเลขสัดส่วนสายอาชีพ:สามัญ ที่ 51:49 คงเป็นเรื่องไม่ยาก"นายจาตุรนต์ กล่าว