ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สทศ.ยันควรสอบโอเน็ตแค่ช่วงชั้น ยกเหตุผลเด็กป.1-6 มี10ล้านงานช้างเกินไปแนะสพฐ.ประเมินระดับพื้นที่แทน

11 ก.ย. 2556 10:36 น.

ผู้อ่าน

สทศ.ให้เหตุผลไม่เห็นด้วยจัดสอบประเมินเด็ก ป.1-6 ทุกคน ระบุมีนักเรียนรวมกันตั้ง 10 ล้าน ถ้าสอบจริงโกลาหลแน่ และต้องใช้งบมหาศาล ยกประเทศที่มีผลสอบพิซาดียังจัดสอบแค่ระดับช่วงชั้น แนะให้ สพฐ.ประเมินระดับพื้นที่แทน ส่วนโอเน็ต ป.6 ก็ยกเลิกไม่ต้องใช้ผลเข้า ม.1 เตรียมเสนอให้เป็นมติบอร์ด สทศ.และเข้าพบ รมว.ศธ.เพื่อชี้แจงเร็วๆ นี้
    ศ.กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายจะให้ สทศ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทดสอบมาตรฐานระบบกลางตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 ว่า หากให้ สทศ.ประเมินนักเรียนทุกระดับชั้นดังกล่าวคงเป็นเรื่องวุ่นวาย โกลาหล เพราะการสอบทุกระดับชั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก กำลังคนที่มาทำข้อสอบก็ต้องมีจำนวนมากเช่นกัน แต่หากเป็นการปรับปรุงการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่ หรือ LAS (Local Assessment System) ที่ สพฐ.ทำอยู่แล้ว จะขยายเป็นการประเมินทุกระดับชั้น สทศ.ก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือด้านวิชาการเพื่อให้การจัดสอบมีมาตรฐาน
    ประธาน สทศ.กล่าวต่อว่า ดังนั้นตนและ ผอ.สทศ.จะเข้าพบ รมว.ศธ.เพื่อหารือเรื่องระบบการประเมินในวันที่ 16 ก.ย.นี้ พร้อมยืนยันตามข้อเสนอเดิมให้แก้ไขการใช้ผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้น ป.6 ไม่ต้องเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และเปลี่ยนจากการสอบทุกคนเป็นสุ่มตัวอย่างสอบ เบื้องต้นจะนัดประชุมบอร์ดบริหาร สทศ.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือจัดทำข้อสรุปไปเสนอ รมว.ศธ.ต่อไป
    "อย่างในต่างประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ ไต้หวัน ฮ่องกง ที่มีคะแนนการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ระดับดี เขามีการประเมินมาตรฐานระบบกลางทุกช่วงชั้น ไม่ใช่ทุกระดับชั้น ขณะที่ตัวข้อสอบก็อิงแนวข้อสอบ PISA และมีจำนวนเด็กภาพรวมน้อย ขณะที่ไทยมีเด็ก ป.1-ม.6 รวมกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นหากให้ สทศ.เข้าไปประเมินทั้งหมดคงเป็นภาระหนักแน่ อย่างไรก็ตาม ก็เข้าใจนายจาตุรนต์ที่อยากให้ใช้ผลการประเมินระดับชาติในการประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครู ฉะนั้นหาก สพฐ.มีเครื่องมืออยู่แล้วก็ให้ขยายไปประเมินทุกช่วงชั้น และขยายเนื้อหาวัดผลทั้งการเป็นคนดีคนเก่งจะดีกว่า
    อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสิ่งที่นายจาตุรนต์กำลังปฏิรูปการศึกษาอยู่ หากยังเดินหน้าปฏิรูปต่อเนื่องโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะเห็นหน้าเห็นหลังผลพวงการปฏิรูปใน 2 ปีจากนี้แน่ ซึ่งการศึกษาไทยอาจดีขึ้น
    สำหรับ LAS ปัจจุบันประเมินนักเรียนระดับชั้น ป.2, ป.5, ม.2 และ ม.5 ของทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีการกำหนดรายวิชาในการทดสอบ 8 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพเทคโนโลยี ทั้งนี้ ข้อสอบ LAS ทั้งประเทศจะไม่เหมือนกัน เพราะจะมีความแตกต่างกันไปตามคณะกรรมการแต่ละพื้นที่การศึกษา โดยข้อสอบไม่ได้ออกตามตัวชี้วัดทั้งหมด ครึ่งหนึ่งจะเป็นหลักสูตรท้องถิ่น
    ข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ให้ สทศ.ประเมินเด็ก ป.1-ป.6 ทุกคน ก็เพื่อหวังให้ผลสอบเด็กนักเรียนสะท้อนไปถึงการประเมินวิทยฐานะครู เพราะการประเมินแค่ช่วงชั้นให้เด็กเฉพาะ ป.3, ป.6 เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถสะท้อนภาพการสอนของครูทั้งหมดได้ แต่ครูเกือบทุกคนได้ทำผลงานขอเลื่อนวิทยฐานะ
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์