ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

'สุรินทร์ พิศสุวรรณ'ชี้รัฐต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา

13 ก.ย. 2556 13:31 น.

ผู้อ่าน

'สุรินทร์ พิศสุวรรณ'ชี้รัฐต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา
'สุรินทร์ พิศสุวรรณ'ชี้รัฐต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา ก่อนสายเกินกู้กลับ
 
               "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ" อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลงเกือบทุกด้าน ในขณะที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างมุ่งมั่นเสริมสร้างสมรรถนะของตนเองก่อนเข้าสู่ประชาคมในปี 2558
 
                จากการที่องค์กรเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ได้เสนอรายงานผลการศึกษา ความสามารถในการแข่งขันโลก (Global Competitiveness Report 2013-2014) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยชี้ว่า คุณภาพการศึกษาทั้งระดับพื้นฐานมัธยมและอุดมศึกษาของไทยอยู่ในระดับรั้งท้ายหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้คำว่า “คุณภาพต่ำอย่างผิดปกติ” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลยิ่ง เพราะมันสะท้อนถึงความไม่เชื่อถือยอมรับในคุณภาพการศึกษาไทยโดยรวม และจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นในประเทศด้านอื่นๆ ในอนาคตต้องถูกกระทบกระเทือนไปด้วย”
 
                สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ การที่รายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่ต่อเนื่องทางด้านนโยบาย ระบบราชการที่ซับซ้อนไร้ประสิทธิภาพ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายระบบพรรคพวกเส้นสาย ทำให้ความเชื่อมั่นในสถาบันสาธารณะของไทยต่ำลง มีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"
 
                ดร.สุรินทร์กล่าวต่อว่า ทางออกสำหรับประเทศไทยคือ การรีบเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการจัดระบบองค์กร คุณภาพการเรียนการสอนและทรัพยากรด้านสื่อ ห้องสมุดและแล็บทดลองต้องครบครัน
 
                “เราใช้งบประมาณด้านการศึกษาปีละกว่า 5 แสนล้านบาท (งบประมาณ 2556) คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน มีบุคลากรเฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการเกือบ 5 แสนคน มีอาจารย์ระดับอุดมศึกษา 56,180 คน ถึงกระนั้นรายงานของดับเบิลยูอีเอฟ ยังกล่าวว่า การศึกษาของไทยมีคุณภาพต่ำอย่างผิดปกติ อย่างนี้ต้องรีบเร่งแก้ไขแน่” ดร.สุรินทร์กล่าว
 
                อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรีบให้ความสำคัญคือ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว แต่กลับได้รับงบประมาณน้อยมากเพียง 19,636 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของงบประมาณแผ่นดิน หรือ 300 บาทต่อหัวประชากรประเทศ
 
                “ตัวถ่วงความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของประเทศไทยคือ การที่รัฐบาลลงทุนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง น้อยมากๆ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่น) อีกทั้งจำนวนสิทธิบัตรที่นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ไทยจดทะเบียนทั้งในและนอกประเทศก็อยู่ในอันดับท้ายๆ ของโลกประกอบกับนักธุรกิจและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการพัฒนานวัตกรรมองค์กรธุรกิจ และสถาบันอุดมศึกษาของไทยในระดับต่ำมาก” ดร.สุรินทร์ อ้างบทสรุปจากรายงานของดับเบิลยูอีเอฟ
 
                มีบทวิเคราะห์หลายฉบับที่ตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย จำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม กระบวนการผลิตและการบริการจากการใช้แรงงานถูก เข้าสู่การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มิเช่นนั้นจะติดอยู่ในบ่วงที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) จะไม่มีวันเข้าสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง และยังมีผลสำรวจทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยหลายต่อหลายครั้งพบว่ายังรั้งท้ายด้านภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการแข่งขันบนเวทีภูมิภาคอาเซียนและในตลาดโลก เช่นในปี 2555 ดัชนีวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษของ Education First (EF English Proficiency Index- EPI) ของคนไทยอยู่ในลำดับ 53 ของ 54 ประเทศที่ได้รับการสำรวจ ดีกว่าประเทศลิเบีย ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามการเมือง
 
                “อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะกฎบัตรอาเซียนกำหนดว่า ภาษาอังกฤษคือภาษาใช้งานของอาเซียน เอกสารทุกชิ้น การประชุมทุกครั้ง การต่อรองทุกเรื่อง จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น และเราจะสื่อกับใครด้วยภาษาอะไรในประชาคมอาเซียน”
 
                ดร.สุรินทร์ อธิบายประกอบว่า เยาวชนไทยมีเครื่องมือไอทีและโทรศัพท์มือถือกันเกือบทุกคน เพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มพูนปัญญาจากขุมความรู้ไซเบอร์ เอาแต่ใช้เพื่อความสนุก เล่นเกม และติดตามข่าวบันเทิงมากกว่า จึงมีสถิติออกมาว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเครื่องมือไอทีที่มีอยู่ ทักษะภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นในทุกประเทศได้นำไปสู่การยกระดับคุณภาพของการศึกษาในห้องเรียน จะเปลี่ยนพลวัต และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนไปโดยปริยาย เพราะนักเรียนจะมีข้อมูลมากขึ้นจากแหล่งข้อมูลไซเบอร์ ซึ่งจะมีผลบังคับให้ครูผู้สอนต้องเตรียมการสอนมากขึ้นเพื่อรับมือกับเด็กที่ค้นหาข้อมูลมาล่วงหน้า
 
                “จะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นกุญแจที่สำคัญนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ประเทศไทยพยายามมานานแล้ว เพราะเด็กจะมีข้อมูลมากขึ้น จะตั้งคำถามมากขึ้น จะสามารถวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนความเห็นกับครูได้ดีขึ้น บรรยากาศในห้องเรียนจะเปลี่ยนไป ไม่เป็นแต่เพียงการบรรยายของครู และการท่องจำของนักเรียนอีกต่อไป” ดร.สุรินทร์กล่าว
 
                แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ปฏิรูปการบริหารจัดการกระบวนการศึกษาของประเทศเสียใหม่ ดร.สุรินทร์ชี้แนะว่า จำเป็นต้องผ่าตัดกระทรวงศึกษาธิการออกเป็นสามองค์กร แยกออกจากกันคือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมและอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้เพราะภารกิจทางด้านการศึกษา จำนวนบุคลากร และงบประมาณ ยิ่งใหญ่ สำคัญ และซับซ้อน เกินกว่ากระทรวงเดียวจะดูแลบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
                "ความอยู่รอดของไทยในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของคนไทย การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะประกันความเชื่อมั่นของชาวโลกต่อบทบาทของไทยในอนาคตได้ ผมหวังว่ารายงานของดับเบิลยูอีเอฟ ในปีหน้าจะปรานีประเทศไทยมากกว่าปีนี้ และจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของระบบการศึกษาไทย" ดร.สุรินทร์ ฝากทิ้งท้าย
 
 
 
เครดิต  นสพ.คมชัดลึก