ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เปิดความเห็น!!! ประธาน ส.ค.ศ.ท. ต่อนโยบายปลดล็อกใบอนุญาตประกอบวิชา

16 ก.ย. 2556 10:07 น.

ผู้อ่าน

กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการศึกษาขึ้นมาทันที สำหรับเรื่อง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หลังจากเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า
 
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีปัญหาการขาดแคลนครู แต่ไม่สามารถที่จะให้คนเก่งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะด้าน อาทิ ผู้สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต วิทยาศาสตร์บัณฑิต มาเป็นครูได้ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
 
ซึ่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นระบบที่ปิดเกินไป เป็นอุปสรรคไม่สามารถดึงคนที่มีความรู้ในวิชาชีพต่างๆมาเป็นครูได้ ทั้งที่คนเหล่านั้นสามารถที่จะเข้ามาสอนเพื่อทดแทนครูที่เรากำลังขาดแคลนได้
 
และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม หากต้องแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความ เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆเข้ามาเป็นครูได้ ก็สามารถทำได้ เพราะไม่อยากให้ไปปิดช่องทางที่จะให้ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆเข้ามาเป็นครู
 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ คณะบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ได้ออกมาให้ความเห็นผ่าน Facebook ว่า
 
 
ความเห็นต่อนโยบายปลดล็อกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ของ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.)
 
1. ครูที่ดีจะต้องมีความรู้ดีในเรื่องที่จะสอน และต้องมีทักษะ รู้และเข้าใจวิธีให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ บรรลุตัวชี้วัดที่ต้องการให้เกิดผลดีต่อผู้เรียนทั้งระยะสั้นและโดยเฉพาะระยะยาว 
 
2. เจตนารมณ์ของกฎหมายปัจจุบันต้องการให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงกำหนดให้เป็นวิชาควบคุม มีคุรุสภา เป็นสภาวิชาชีพทำหน้าที่ควบคุม กำกับ มีการกำหนดบทลงโทษหากมีการนำคนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
 
3. คุรุสภาได้มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และกำลังพัฒนาปรับปรุงเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้การเห็นชอบ ประกาศใช้เรื่อยมาตามลำดับ 
 
4. โดยหลักแล้ว หากผลิตครูและคัดเลือกครูตามที่คุรุสภากำหนดนี้แล้วจะได้ครูที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณ มีความเป็นกัลยาณมิตร ฯลฯ แต่อาจมีหลายคนที่ไม่เป็นไปตามนั้น ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับการผลิตมาตามมาตรฐานวิชาชีพอาจเป็นครูที่ดีได้ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล 
 
5. ปัจจุบันคุรุสภาได้ให้การรับรองวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหลากหลายนอกเหนือจากคุณวุฒิทางการศึกษาแล้ว เช่น วท.บ. ศศ.บ. วศ.บ. ฯลฯ (หลักสูตร 5 ปี มีเรียนรายวิชาชีพครูและปฏิบัติการสอน 1 ปี) 
 
6. ประเทศไทยปรับเปลี่ยนการทำอาชีพครูมาเป็นการประกอบวิชาชีพครู และมีความพยายามให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงด้วย เพราะเหตุว่าครูมีหน้าที่ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองทั้งกายภายนอกและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ หลักสูตรครูจึงกำหนดให้ผู้เรียนมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องเรียนรู้ บ่มเพาะฝึกฝนให้เกิดทักษะในเวลาที่เหมาะสม
 
7. การให้คนที่ไม่ได้เรียนตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนด ควรเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่การผลิตครูในปัจจุบันบางสาขาวิชายังขาดแคลนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามควรมีการควบคุมให้มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นครู ด้วยกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง 
 
8. ที่ผ่านมาคุรุสภามีการอนุญาตให้สอนโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ บุคคลเหล่านี้สามารถทดสอบ เทียบโอนความรู้และประสบการณ์หรือเข้ารับการอบรม เมื่อครบทุกมาตรฐานสามารถขอรับใบอนุญาตวิชาชีพครูได้ คุรุสภามีอำนาจหน้่าที่พิจารณาให้บุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสอนได้ ในกรณีมีความจำเป็นต้องการของสถานศึกษา ครั้งละ 2 ปี และขอสอนได้อีก 2 ปี หากยังมีความจำเป็น
 
9. หากจะดำเนินการให้เป็นระบบ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีตัวเลขความต้องการ จำแนกตามสาขาวิชาและรายปีให้ชัดเจน แล้วให้คุรุสภาและสถาบันผลิตพิจารณา หากเป็นสาขาวิชาที่ขาดผู้สำเร็จสามารถอนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่การสอนและบรรจุไว้ก่อนได้ 
 
10. ส่วนในระยะยาว รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้มีการผลิตครูให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และผลิตในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการ พึงต้องมีการจัดทำข้อมูล วางแผนและประสานการผลิตอย่างเป็นระบบ
 
ดังนั้นโดยสรุป การปลดล็อกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ทำได้อยู่แล้ว และให้กระทรวงศึกษาธิการโดยหน่วยงานผู้ใช้ครูจัดทำข้อมูลความจำเป็นต้องการครูในสาขาขาดแคลน เฉพาะหน้า 1-2 ปี ประกาศให้ผู้สำเร็จการศึกษา สถาบันฝ่ายผลิตและคุรุสภารับทราบอย่างกว้างขวาง หากขาดแคลนจริงให้คุรุสภาพิจารณาอนุญาตให้สอนหรือบรรจุได้ ส่วนในระยะยาวให้มีการวางแผนการผลิต จัดทำข้อมูลความต้องการอย่างชัดเจนจำแนกเป็นรายสาขาวิชา คุณวุฒิและรายปี แล้วให้คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม ร่วมกับคณะวิชาอื่น ๆ ผลิตให้ได้ครูดีครูเก่ง มีการจูงใจนักเรียนที่เป็นคนดีคนเก่งมาเข้าเรียน เสริมสร้างสนับสนุนสถาบันฝ่ายผลิตและคณะร่วมผลิต 
 
ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติในทุกด้าน การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะระยะยาว หากพิจารณาและทำอะไร ไร้หลักยึดแล้วการแก้ปัญหาจะกลายเป็นการซ้ำเติมและมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย
 
 
 
เครดิต eduzone.com