ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

1 ต.ค.เริ่มปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา

23 ก.ย. 2556 09:35 น.

ผู้อ่าน

 'อ๋อย' ลั่น 1 ต.ค.นี้ เริ่มปฏิบัติการตามแผนปฏิรูปการศึกษา ผลักดัน 3 เรื่องหลัก นำร่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก้สัดส่วนเรียนสายอาชีพ-สายสามัญ 50:50 ให้อาชีวะกลับมาเป็นที่นิยม และเร่งทำแผนแม่บทไอซีทีวางมาตรฐานเนื้อหาในแท็บเล็ต ส่วน สพฐ.เซ็น MOU เร่งรัดลดยอด นร.อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้
    เมื่อวันที่ 22 ก.ย. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุมปฏิบัติการ "รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" สู่การปฏิบัติ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังร่วมเสวนากับเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าไทย ว่า ผู้แทนภาคการผลิตเห็นตรงกันกับ ศธ.ถึงความจำเป็นในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหากเราได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะยิ่งทำให้เราต้องการกำลังคนมากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สภาพัฒน์อยากให้ ศธ.ดำเนินการมากขึ้นคือ การวิจัยและพัฒนา ทั้งวิจัยและพัฒนาในภาพรวม และวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่ง ศธ.จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น ทั้งนี้ ตนประเมินว่าผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาใน ศธ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน มีความเข้าใจตรงกันแล้ว พร้อมช่วยเสนอแนะนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหาของประเทศ เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้และไปสู่ความสำเร็จทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน
    รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า จากการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการ คาดว่า 1 ต.ค.นี้ จะสามารถขับเคลื่อนงานสำคัญได้ อาทิ 1.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเริ่มนำร่องได้ 2.การผลักดันงานอาชีวศึกษาให้ได้สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพกับสายสามัญ 50:50 โดยจะระดมการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและผู้ปกครองเห็นเส้นทางความก้าวหน้าหลังเรียนจบอาชีวศึกษา เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยมสังคมไทย สอดคล้องกับการรับนักศึกษาอาชีวศึกษาในปีการศึกษาหน้า
    3.จัดทำแผนแม่บทไอซีทีเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะการวางกรอบ มาตรฐานเนื้อหาการเรียนการสอนที่จะบรรจุในแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทั้งวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่ ซึ่งต้องเกิดขึ้นให้ได้เฉพาะหน้าวันที่ 1 ต.ค.นี้ และวางแผนแม่บทไอซีทีเพื่อการศึกษาสำหรับปี 2563 ต่อไป บางประเทศใช้เวลาพัฒนาเนื้อหาหรือแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษา 10-15 ปี แต่ของไทยสามารถเรียนรู้ได้จากต่างประเทศ หวังว่าเราจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น นอกจากนี้จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมโยงระบบอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศให้บ้านและสถานศึกษาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและทั่วถึง อย่างไรก็ตาม จะต้องระดมความคิดเห็นเพิ่มเติม อาทิ การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศต้องมีการกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดเพิ่มเติม ซึ่งจะประกาศเป็นนโยบายเพิ่ม
    วันเดียวกัน ที่ รร.เซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานการบริหารงานการศึกษาพิเศษ ในการเร่งรัดพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล แก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญการพัฒนาการศึกษาชาติคือ พัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มีลักษณะอันพึงประสงค์และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 การอ่านออก-เขียนได้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาตัวเองให้สามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ต้องมีมาตรการเร่งด่วน การเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ ผ่านการทำเครื่องมือตรวจสอบและคัดกรอง กำกับติดตาม หรือใช้กระบวนการทริปเปิลเอ (Triple A)
    และจากนี้ทุกเขตพื้นที่ฯ และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษจะต้องตรวจสอบคัดกรองสถานศึกษาทุกแห่ง โดยเฉพาะกับนักเรียน ป.3 และ ป.6 ทุกคนจะต้องมีความสามารถด้านภาษาตามมาตรฐานชั้นปี ช่วงอายุ หรือตามศักยภาพ จะมีการเร่งรัดพัฒนาครู รวมถึงติดตามผลประเมินนักเรียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ หรือช่วงปิดภาคเรียนที่ 1/2556 ไปแล้ว จากนั้นจะมีการซ่อมเสริมนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทุกคนที่มีปัญหาอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ภายในภาคเรียนที่ 2/2556 ต่อไป
    ขณะที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผลเบื้องต้นของการตรวจสอบและคัดกรองนักเรียนที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 183 เขตพื้นที่ฯ พบว่า ป.3 มีเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อ่านไม่คล่อง รู้เรื่องบ้าง อ่านไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง 21.40% จากทั้งที่สแกนไปแล้วกว่า 1 แสนคน ระดับ ป.6 มีเด็กกลุ่มเสี่ยง 13.55% จากที่สแกนไปแล้วกว่า 1 แสนคนเช่นกัน ส่วนการศึกษาพิเศษ ป.3 มีเด็กกลุ่มเสี่ยง 67.80% ระดับ ป.6 มีเด็กกลุ่มเสี่ยง 57.31% ซึ่งในกลุ่มการศึกษาพิเศษแน่นอนว่าต้องมียอดนักเรียนอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้สูง
 
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์