ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สสวท.แนะเทคนิคดึงคะแนนพิซา

14 ต.ค. 2556 10:25 น.

ผู้อ่าน

    สสวท.แนะเทคนิคโกยคะแนน PISA-TIMSS ชี้ทำข้อที่ได้ก่อน หากไม่ได้อย่ามั่ว หมดเวลาอย่าทิ้งดิ่ง แนะ ศธ.สร้างความพร้อมและความมั่นใจให้ครู หลังผลวิจัยชี้ครูไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมสอนนักเรียน ซัดเลิกอ้างที่คะแนนข้อสอบนานาชาติตกต่ำเพราะเด็กไม่ตั้งใจสอบ ยันผลตรวจข้อสอบชี้ชัดเด็กไทยตั้งใจแล้ว แต่ตอบไม่ถูกเอง   
    นายปรีชาญ เดชศรี รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “สิ่งที่พบจากการประเมินตามโครงการ PISA และ TIMSS กับการจัดการศึกษาของประเทศไทย” ในงานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู EDUCA 2013 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ตอนหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการประเมินด้วยข้อสอบนานาชาติที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ (TIMSS) จะพบว่าสัมฤทธิผลของนักเรียนไทยลดต่ำลงตลอด ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่โทษว่าใครเป็นผู้ผิด
    รอง ผอ.สสวท.กล่าวอีกว่า การประเมินระดับนานาชาติที่ผ่านมาจะพบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่เก่งทุกเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูไม่สอนให้เด็กคิด สอนเพียงให้ทำแบบฝึกหัดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำให้เวลาเจอข้อสอบระดับชาติที่มีคำถามซับซ้อน และคำตอบที่ต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์หลายชั้นจึงทำไม่ได้ แต่ข้อสอบนานาชาติก็มีคำถามง่ายๆ ปนอยู่บ้าง เพื่อให้รางวัลเด็กที่ตั้งใจทำข้อสอบ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากการตรวจข้อสอบนานาชาติพบว่า ในข้อสอบแต่ละชุดจะมีโจทย์ที่ง่ายและยากปนๆ กันไปในสัดส่วนที่เท่ากัน กรณีที่เด็กทำไม่ได้แล้วข้ามไปก็จะนับคะแนนแบบหนึ่ง แต่หากมีข้อใดที่เด็กเขียนบ่นมา ระบบจะถือว่าเด็กคนนั้นทำไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อหมดเวลาแล้วหยุด ข้อสอบที่เหลือจะถือว่าทำไม่ถึง แต่หากหมดเวลาแล้วไม่ยอมหยุด กากบาทไปเรื่อยจนครบ จะถือว่าทำไม่ได้ ฉะนั้นรูปแบบการทำข้อสอบจะมีการตีความหลายแบบ
    “เด็กไทยมักมีนิสัยเมื่อหมดเวลาสอบชอบกากบาทไปเรื่อยจนครบเผื่อจะฟลุก แต่จริงๆ แล้วข้อสอบนานาชาติเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากที่จะฟลุก ทำให้เด็กไทยมักไม่ได้คะแนน ฉะนั้นมีคำแนะนำสำหรับเด็กที่อาจถูกสุ่มให้เข้าสอบ ว่า หากทำไม่ได้ให้ผ่าน ทำไม่เสร็จหยุด หมดเวลาทำไม่เสร็จอย่าทำต่อ ทั้งนี้ พบว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะรนข้อสอบจนรีบๆ ทำ ฉะนั้นแนะนำว่าค่อยๆ ทำและตั้งใจอ่านโจทย์ช้าๆ เพราะจำนวนข้อสอบเทียบกับเวลาถือว่าเหลือเฟือ” นายปรีชาญกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มักจะอ้างคะแนนข้อสอบนานาชาติต่ำ ว่าเด็กไม่ตั้งใจทำ แต่เวลาเจอกับหลายประเทศที่เข้าร่วมสอบ ต่างคนก็ต่างบอกว่าเด็กตัวเองไม่ตั้งใจสอบเหมือนกัน บ่นเหมือนกัน แต่เวลาเขียนตอบกลับถูก แต่เด็กไทยบ่น เขียน ด่า และก็ตอบไม่ถูก ฉะนั้นกรณีไม่ตั้งใจสอบคงเป็นข้อแก้ตัวเท่านั้น ขณะเดียวกันเมื่อมาดูในคำตอบของเด็กไทยที่เขียนในข้อสอบนานาชาติ จะพบว่าเด็กตั้งใจทำแล้ว แต่ตอบไม่ได้ เพราะเขียนไม่รู้เรื่อง  
    "จากข้อมูลวิจัยเปรียบเทียบวุฒิการศึกษาครูไทย สรุปได้ว่า ครูไทยในปัจจุบันเกือบทั้งหมดไม่มีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา เพราะจบการศึกษาระดับ ป.ตรีขึ้นไปจำนวนมาก ขณะที่ปัญหาครูสอนไม่ตรงวุฒิก็มีแนวโน้มที่ลดลง ฉะนั้นเรื่องวุฒิการศึกษาครูไม่ใช้ประเด็นปัญหา แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพครูมากกว่า" นักวิชาการรายนี้กล่าว
    นอกจากนี้ยังมีข้อมูลวิจัยที่เป็นการแสดงความคิดเห็นของครูที่มีต่อความพร้อมความมั่นใจในการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สรุปได้ว่า ครูไทยเกินครึ่งไม่มีความพร้อมทั้งในการเตรียมความพร้อมการสอน และความมั่นใจในการสอน มีผลสำรวจดังนี้ ระดับ ป.4 วิชาคณิตฯ ครูมีความพร้อมเตรียมการสอน 50% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก 83%, มีความมั่นใจการสอน 47% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก 75%, วิชาวิทย์ ครูมีความพร้อมเตรียมการสอน 38% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก 62%, มีความมั่นใจการสอน 39% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก 59%
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์