ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

หนุนGAT/PATเลื่อนเปิดสนามเป็นช่วงปิดเทอมคาดเริ่มปี58

14 ต.ค. 2556 10:26 น.

ผู้อ่าน

    ทปอ.ยันไม่ปรับปฏิทินสอบรับตรงของปีการศึกษา 2557 "สมคิด" เผยขณะนี้มีเพียง มศว แห่งเดียวที่เปิดสอบรับตรงไปแล้ว ที่เหลือรอสอบพร้อมกันช่วงเดือน ม.ค. 57 หนุนนโยบาย "อ๋อย" เล็งขยับสอบ GAT-PAT ครั้งที่ 2 ของปีการศึกษา 2558 ไปอยู่ช่วงปิดเทอม เดินหน้าสนับสนุนแยก สกอ.เป็นทบวงอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง
 
    ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้จัดประชุมครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ. เปิดเผยภายหลังการประชุม ซึ่งมี ศ.พิเศษ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าร่วมด้วยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา กรณีการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้ยืนยันในมติ ทปอ.เดิม ย้ำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดสอบรับตรงพร้อมกันในช่วงเดือน ม.ค. ในปี 2557 ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้เปิดสอบรับตรงล่วงหน้าไปแล้ว ทำให้ภาพรวมเหลือ 95% ที่ยังไม่ได้เปิดสอบ ทั้งนี้ความร่วมมือเรื่องกำหนดช่วงรับตรงดังกล่าว ไม่รวมการสอบรับตรงระบบโควตา และรับเด็กในพื้นที่ เพราะถือว่าให้ดำเนินการจัดสอบได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามมีหลายฝ่ายต้องการจะให้มีการปรับระบบสอบรับตรงในช่วงปีนี้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้วางแผนการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว การขยับอาจทำให้มหาวิทยาลัยรวนไปหมด หลังจากได้ดำเนินการจัดสอบของปีการศึกษา 2557 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทปอ.ก็จะสรุปปัญหาอุปสรรคทั้งหมดเพื่อนำไปปรับใช้ในปีการศึกษา 2558 ต่อไป
    ประธาน ทปอ.กล่าวถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) อยากให้มหาวิทยาลัยจัดสอบรับตรงพร้อมกันหลังจากที่นักเรียนจบการศึกษาไปแล้วว่า เรื่องนี้ ทปอ.เห็นด้วยในหลักการ และได้มีการหารือเรื่องนี้มาตลอด แต่หากจะให้เลื่อนจัดสอบในปีนี้คงไม่ทัน ทั้งนี้การจะให้จัดสอบในช่วงปิดภาคการศึกษาไปแล้วอาจมีปัญหาทางเทคนิค เพราะปัจจุบันจัดสอบ GAT-PAT 2 ครั้งต่อปี ฉะนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้การสอบทั้ง 2 ครั้งอยู่ในช่วงปิดเทอมทั้งหมด ซึ่งเราก็คิดมาพอสมควร ฉะนั้นอาจมีความเป็นไปได้ที่การสอบ GAT-PAT รอบที่ 2 ของการรับปีการศึกษา 2558 จะขยับไปอยู่ช่วงปิดภาคการศึกษาด้วย
    ศ.สมคิดกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงข้อเสนอ ทปอ.ที่ให้มีการศึกษาถึงการแยกอุดมศึกษา ออกจาก ศธ.มาเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่ง ศ.พิเศษ ทศพร เห็นว่า เป็นไปได้ยาก และได้ข้อเสนอให้มีการตั้งเป็นทบวงภายใต้ ศธ. ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีการตั้งทบวงภายใต้กระทรวงมาก่อน แต่ในมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้สามารถทำได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นด้วย เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยมีความอิสระและยังมีความเชื่อมโยงกับ ศธ.อยู่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นของตัวเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้รัฐมนตรีขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือ รมว.ศธ.
    รศ.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาและจัดทำโครงการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะแยกออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย หรือเป็นทบวงอุดมศึกษา ตนก็เห็นด้วย หากการบริหารจัดการอุดมศึกษาจะมีความอิสระ คล่องตัวขึ้น โดยส่วนตัวไม่อยากให้เป็นทบวงที่อยู่ภายใต้ ศธ. แต่อยากให้เป็นทบวงอิสระ
    ศ.พิเศษ ทศพร กล่าวว่า ได้นำเสนอที่ประชุม ทปอ. ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือประเทศให้ มีการแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะช่วยทำการวิจัย และทำเรื่องเอสเอ็มอีช่วยเหลือผู้ประกอบการของประเทศ และช่วยชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว 2.เรื่องการประกันคุณภาพภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเห็นว่าไม่ควรมีหลักเกณฑ์เดียวที่ใช้กับทุกหน่วยงาน แต่ควรมีหลักเกณฑ์ที่หลากหลาย และหากมีการประเมินของ สมศ.ในปีนั้นไปแล้ว สกอ.ก็ไม่ควรมาประเมินในรอบนั้นไปเลย
    3.เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษานั้น ในส่วนกฎหมายงานบริหารบุคคลที่จะใช้กับทุกมหาวิทยาลัย ตนไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว เพราะการใช้กฎหมายอยากให้เป็นความสมัครใจของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าร่วมหรือไม่ หรือหากมหาวิทยาลัยใดดูแลเรื่องนี้ดีอยู่แล้วไม่อยากร่วมก็สามารถเลือกได้ และ 4.เรื่องกระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่ง ทปอ.ได้มีการทำเรื่องแยกเป็นกระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ตนเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เห็นว่าการตั้งกระทรวงใหม่เป็นเรื่องยาก ฉะนั้นควรมีการจัดตั้งเป็นทบวงอิสระภายใต้ ศธ. มีอิสระการบริหารและตัดสินใจเต็มที่ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากกว่า
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์