ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

"จาตุรนต์"ยอมรับการปฎิรูปหลักสูตรยังอ่อนประชาสัมพันธ์

17 ต.ค. 2556 10:10 น.

ผู้อ่าน

วันนี้(16ต.ค.) นายจาตุรนต์  ฉายแสง  รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)  กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มอาจารย์นาฏศิลป์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ออกมาทวงถามถึงเหตุผลการตัดรายวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้น ฐานที่จะมีการปรับปรุงใหม่ว่า หลังจากที่มีการอธิบายรายละเอียดไปแล้วว่าไม่ได้มีการตัดวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรใหม่แน่นอนนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังมีคนไปตั้งประเด็นหลุดโลกใหม่ๆ ทั้งจะไม่ให้มีการเรียนการสอนวิชาดนตรีไทย  ไม่ให้มีนาฏศิลป์ เหมือนยังไม่รับรู้ในสิ่งที่อธิบายไปแล้ว ในทางกลับกันมุมมองต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นกระจกที่สะท้อนกลับมายังศธ. ว่าอาจจะยังทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งคณะ สาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ดังนั้นตนจึงมอบให้คณะกรรมการปฎิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปเร่งทำการประชาสัมพันธ์โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การปรับหลักสูตรของศธ. ครั้งที่ผ่าน ๆ มาเกิดขึ้นในช่วงที่การใช้โซเชียลมีเดียยังไม่มีความแพร่หลายเท่าปัจจุบัน ดังนั้นการปรับหลักสูตรครั้งนี้ควรจะต้องให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น  ขณะเดียวกันอาจจะต้องย้อนกลับไปอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร  เพื่อนำแนวคิดใหม่ๆมาปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเน้นเรื่องทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในอนาคต อาทิ การสอนให้คนรู้จักการคิดวิเคราะห์ มีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต  การปรับหลักสูตรและการปรับการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องควบคู่กัน ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย
“ส่วนที่ว่าเป็นเพราะศธ.มีนโยบายที่จะเน้นยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการประเมินระดับนานาชาติ ของนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับตามโครงการ Programme for International Student Assessment หรือ PISA จึงทำให้ต้องตัดรายวิชาที่ไม่ส่งผลต่อการประเมินออกนั้น อาจจะคิดไปอย่างนั้นได้ แต่การปฏิรูปการเรียนการสอน ต้องปฏิรูปให้ครอบคลุม ในหลักสูตรมีกี่กลุ่มสาระก็ต้องยกระดับคุณภาพให้ครอบคลุมเหมือนกันหมด แต่การที่เราจะยกตัวอย่างการเรียนการสอนแบบใหม่ จำเป็นต้องเลือกบางด้าน บางสาขาวิชาที่เห็นประเด็นชัดเจนว่าคุณภาพการเรียนการสอนตกต่ำจริง ๆ คนเห็นปัญหา โดยเฉพาะทักษะด้านภาษา การอ่าน การคิดวิเคราะห์   คณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเรียนในอนาคต ซึ่งถ้าเด็กเก่งใน 3 ด้านนี้ จะทำให้เรียนวิชาต่าง ๆ ได้ดี  แต่ไม่ได้หมายความเราจะเน้นยกระดับคุณภาพเฉพาะวิชาดังกล่าวเท่านั้น”นายจาตุรนต์ กล่าว
 
 
 
เครดิต นสพ.เดลินิวส์