ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

คุรุสภาเปิดช่องพิเศษครู ป.โท สาขาการสอน

22 ต.ค. 2556 10:26 น.

ผู้อ่าน

ประธานบอรฺดคุรุุสภา ชี้แตกต่างจาก 'ป.บัณฑิต' เหมาะสำหรับผู้ไม่มีวุฒิครู จะเรียนได้ต้องสแกนคุณภาพทั้งผู้เรียนและสถาบันที่ขอเปิดสอนมีใบรับรอง
 
     นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตบัณฑิตสายครูว่า เป็นที่น่ายินดีว่าข้อมูลการรับนิสิต นักศึกษาสายครูในระยะ 2-3 ปีมานี้ ผู้ที่สอบเข้าเรียนได้จะมีคะแนนสูงกว่าที่ผ่านมาเป็นการสะท้อนคนเก่งสนใจมาเรียนวิชาชีพครูมากขึ้น และจากการวิเคราะห์เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ คือโอกาสในการมีงานทำค่อนข้างชัดเจน เพราะมีอัตราจากครูเกษียณอายุราชการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเงินเดือนสูงเพราะมีบัญชีเงินเดือนของครูเองซึ่งดีกว่าข้าราชการอื่น รวมถึงมีโอกาสก้าวหน้าในวิทยฐานะด้วย ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวคิดว่าหากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะใช้โอกาสนี้ดึงคนเก่งเข้ามาเป็นครู ตามจำนวนที่ต้องการจริง เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพวิชาชีพครูดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า คนเป็นครูชอบการสอบแข่งขันเพราะเมื่อสอบได้เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณภาพ
 
     "ปรากฎการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจวิชาชีพครูในกลุ่มเด็กเก่งๆ วงการครูจะใช้จังหวะนี้เพื่อพัฒนาวิชาชีพจริงๆ ได้หรือไม่ หรือจะใช้เพื่อการหาประโยชน์แค่สถาบันที่มีเด็กเข้ามาเรียนมากเท่าไหร่ก็รับหมด ซึ่งการเป็นการคิดระยะสั้น แต่หากจะทำเพื่อประโยชน์ของวงการศึกษาในระยะยาวก็ต้องช่วยกันคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ และตั้งใจที่จะเป็นครูอยางแท้จริง ที่สำคัญหากมีทุนสำหรับคนเรียนครูเพิ่มขึ้นมา จะยิ่งเป็นการดึงดูดคนเก่งๆ ให้หันมาเรียนครู"  
 
     นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คุรุสภากำลังเตรียมวางหลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรครูระดับปริญญาโท กรณีคนที่จบปริญญาตรีสายอื่นที่ไม่ใช่สายครูหรือสายการสอน และต้องการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยต้องมาเรียนระดับปริญญาโทแบบเต็มเวลา และต้องมีการฝึกสอนในโรงเรียน ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รับรอง ซึ่งจะกำหนดว่าหากสถาบันอุดมศึกษาใดจะเปิดหลักสูตครูรระดับปริญญาโท จะต้องส่งหลักสูตรให้คุรุสภารับรองก่อน โดยคุรุสภาจะคุมจำนวนผู้เรียนที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ เช่น อาจารย์ 1 คนต่อผู้เรียนกี่คน หากจะเปิดรับเท่านี้ต้องมีอาจารย์เท่าไหร่ ซึ่งอาจต้องส่งรายชื่ออาจารย์และผู้เรียนมาให้คุรุสภารับรองก่อนเปิดสอนด้วย เป็นต้น 
 
     "วิธีนี้จะเป็นการแก้ปัญหารับครูไม่ตรงสาขาหรือสาขาขาดแคลน เช่น วิทยาศาตร์ เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ หรือ ครูอาชีวศึกษา รวมถึงแก้ปัญหาคนไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้ามาเป็นครูด้วย เพราะจะเปิดสำหรับคนที่จบสายอื่น โดยเฉพาะสาขาขาดแคลนและไม่ใช่การสอนมาโดยตรง เพราะต่อไปจะต้องมาเรียนระดับปริญญาโทสายการสอน เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก่อนที่จะเข้าไปสอน โดยหลักสูตรนี้จะแตกต่างจากหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต คือ ป.บัณฑิต จะเป็นหลักสูตรสำหรับคนที่เป็นครูอยู่แล้วเท่านั้น คนที่ยังไม่เป็นครูจะไม่สามารถเข้าช่อง ป.บัณฑิตได้ จะมีเพียงช่องทางเดียว คือปริญญาโทแบบเต็มเวลา ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้คนที่ตั้งใจเป็นครูได้เข้ามาเป็นครูอย่างมีคุณภาพ"นายไพฑูรย์ กล่าว
 
 
เครดิต นสพ.สยามรัฐ