ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เลิกบีบเกรดม.4ทำยอดอาชีวะพลาดเป้า7หมื่น

5 พ.ย. 2556 09:32 น.

ผู้อ่าน

    “อ๋อย” เตรียมคุย สพฐ. สรุปรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 เผยแก้ประกาศรับนักเรียนไม่ได้ไม่เป็นไร แม้กระทบยอดนักเรียนอาชีวะพลาดเป้า 7 หมื่นคน แต่เอาจริงเรื่องจำกัดเด็กต่อห้องจาก 50 เป็น 40 คน เพื่อควบคุมคุณภาพในห้องเรียน ชี้อาจใช้มาตรการปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัวคุมนักเรียนต่อห้องทางอ้อม เบื้องต้นขอศึกษาแนวทางก่อน
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่แก้ประกาศการรับนักเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2557 ตามนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพต่อสายสามัญเป็น 51 ต่อ 49 ในปี 2558 ได้ เนื่องจากจะมีปัญหาฟ้องร้องตามมา อาจกระทบต่อนโยบายการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ 9% หรือประมาณกว่า 7 หมื่นคน ในปีการศึกษา 2557 ไม่สำเร็จ ว่า การแก้ไขประกาศรับนักเรียนไม่ใช่จุดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ตนยังไม่แน่ใจว่า  สพฐ.จะสรุปเช่นไร และหาก สพฐ.ได้ข้อสรุปแล้วก็คงต้องมาหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง เพราะยังพอมีเวลา
    รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า สำหรับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องอยู่ที่ 40 คนจาก 50 คนต่อห้องนั้น จริงๆ เราไม่ได้มีเป้าหมายแค่จะเพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญคือ จะต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ เพราะการมีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก ทำให้การจัดการศึกษามีปัญหา ครูไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง โดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ หากมีนักเรียนต่อห้องมากเกินไป จะทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
    นายจาตุรนต์กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง ในหลายประเทศก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน เพราะต้องอยู่ภายใต้ความกดดันของสังคมและทำได้ยาก บางประเทศถึงขั้นต้องออกเป็นกฎหมาย แต่ในส่วนของประเทศไทยคงยังไม่ถึงขั้นต้องออกกฎหมาย แต่จะต้องไปคิดหามาตรการต่างๆ มาประกอบ อาทิ ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้ปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัวมาเป็นอุดหนุนตามโรงเรียน พร้อมกำหนดกติกาว่าแต่ละโรงเรียนจะต้องมีนักเรียนต่อห้องไม่เกินเท่าไหร่ ขณะที่นักเรียนยังได้เงินอุดหนุนรายหัวเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ เรื่องนี้จะไม่นำมาเป็นประเด็นสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียน เพราะเราต้องมาคิดใหม่ เวลานี้เราเน้นแต่เงินรายหัว ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ อาทิ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็ก 70 คนได้เงินน้อย ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เมื่องบน้อยก็ไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้เท่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องมีการปรับการจัดสรรงบประมาณบางส่วน โดยดูความเป็นโรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนจะแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ต้องไปศึกษาดูก่อน แต่ที่สำคัญจะต้องไม่แปรผันตามจำนวนนักเรียนอย่างเดียว
    อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนในสายอาชีพตามเป้าหมาย 9% นั้น คงต้องขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การแนะนำอาชีพ การพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวะ เพื่อจูงใจให้รู้ว่าเรียนแล้วมีงานทำ มีรายได้ดี หากทำให้เห็นชัดเจน เด็กก็อาจหันมาเลือกเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจำนวนที่นักเรียนต่อห้องของสายสามัญจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ตาม
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์