ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สอศ.ยกเครื่องอาชีวะเกษตร พบตกต่ำต้องปรับใหม่หลักสูตรเทียบเท่าสากล หวังเพิ่มยอดคนเรียน100%

7 พ.ย. 2556 09:37 น.

ผู้อ่าน

     ผุดยุทธศาสตร์อาชีวะเกษตรฉบับเร่งด่วน ยกมาตรฐานหลักสูตรเทียบเท่าสากล หวังดึงเด็กเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 100% หลังสำรวจพบคนเรียนลดลงต่อเนื่อง และให้โอกาสเกษตรกรท้องถิ่นพัฒนาความรู้เพิ่มเติมด้วย ทูตนิวซีแลนด์เชิญอาชีวะไทยไปอบรมหลักสูตรช่างระยะสั้นให้ "อ๋อย" แนะเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการอาชีพ เสนอครูเมืองกีวีช่วย
    นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์เด็กที่เรียนด้านการเกษตรในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สอศ.ได้จัดงบประมาณลงไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในวิทยาลัยเกษตรและ เทคโนโลยี (วษท.) รวมถึงวิทยาลัยประมง พร้อมทั้งพัฒนาครูและปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ให้ทันสมัยและเหมาะสม แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดเด็กเข้าเรียนด้านการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนนักเรียนที่เรียนใน วษท. 47 แห่ง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 17,974 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 11,752 คน รวม 29,726 คน และเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างผู้เรียนสาขาด้านการเกษตรกับสาขาอื่นๆ ที่ สอศ.จัดการเรียนการสอนอยู่ พบว่าผู้เรียนสาขาด้านการเกษตรมีสัดส่วนน้อยมาก โดยระดับ ปวช.อยู่ที่ 4:96 และ ปวส.อยู่ที่ 5.6:94.4
    ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กมาเรียนด้านการเกษตรมากขึ้น สอศ.จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษาเกษตร พ.ศ.2557-2558 ฉบับเร่งด่วนขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มผู้เรียนขึ้นจากเดิม 100% เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2556, จัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี และหลักสูตรเฉพาะทางเพิ่มขึ้น, จัดทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพอาชีวศึกษาเกษตรแห่งชาติเทียบได้กับ ระดับสากล และให้เกษตรกรในชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการทางวิชาการและวิชาชีพ มากขึ้น ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2556 ภาควิชาเกษตรมีเด็ก ปวช.1 จำนวน 4,682 คน และ ปวส.1 จำนวน 3,657 คน รวม 8,339 คน ดังนั้นในปีการศึกษา 2557 ภาพรวมจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% หรือ 12,509 คน และปีการศึกษา 2558 ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 100% หรือ 16,678 คน
    "หลังจากนี้จะมีการปฏิรูปการเรียนการสอนด้านการเกษตร โดยให้เด็กได้เรียนรู้จากโครงงานเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งประสานกับสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กได้เข้าไปฝึกปฏิบัติงาน เมื่อจบแล้วเด็กจะสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานในสถานประกอบการ หรือจะประกอบอาชีพของตนเอง และในปีนี้จะมอบให้ วษท.จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้ วษท.แต่ละแห่งระบุชนิดของพืชที่จะทำการอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดหน่วยเคลื่อนที่อบรมวิชาชีพเกษตรระยะสั้นให้แก่ เกษตรกรในชุมชนต่างๆ ด้วย" เลขาธิการ กอศ.กล่าว
    นายชัยพฤกษ์ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายโทนี ลินซ์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือถึงกรอบความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านอาชีวศึกษา โดยนายโทนีอธิบายว่า ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ มีสภาพพื้นดินที่อ่อนและเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น การเรียนการสอนในไครสต์เชิร์ช โพลีเทคนิค จึงเน้นไปที่การอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับช่าง ทั้งการสร้างเครื่องไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยเฉพาะการสร้างบ้าน ซึ่งมาตรฐานที่นำมาใช้ในครั้งนี้ถือว่าสูงมาก เนื่องจากต้องสร้างให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ จึงเชิญชวนให้อาชีวะไปร่วมอบรมในหลักสูตรข้างต้นได้
    "เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ดีๆ ด้านอาชีวะอยู่มาก เขาจึงอยากให้ สอศ.นำเสนอประสบการณ์การจัดอาชีวศึกษาในที่ประชุมสัมมนาของสภาพอุตสาหกรรม นิวซีแลนด์ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. และ รมว.ศธ.เสนอว่าจะให้ สอศ.พิจารณาให้การเรียนการสอนในเทอมสุดท้ายของระดับ ปวช.และ ปวส. ให้เป็นการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการอาชีพเลย พร้อมเสนอให้ทางนิวซีแลนด์ส่งครูมาช่วยสอน ซึ่งเบื้องต้นนายโทนีตอบรับข้อเสนอ พร้อมเชิญ รมว.ศธ.ไปร่วมหารืออีกครั้งที่ประเทศนิวซีแลนด์" นายชัยพฤกษ์กล่าว

 

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์