ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

วิจารณ์สมศ.ต้องปรับปรุงระบบประเมิน

8 พ.ย. 2556 09:28 น.

ผู้อ่าน

    “พงศ์เทพ” กำชับผู้บริหาร สมศ.ปรับระบบประเมินภายนอกให้สอดคล้องประเมินภายใน ต้องลดภาระ สะท้อนความจริง ไร้ผักชีโรยหน้า ด้านชาญณรงค์โบ้ยปัญหาหลักอยู่ที่คุณภาพครู
    วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษา” ในการประชุมวิชาการนานาชาติของ สมศ. ประจำปี 2556 ภายใต้แนวคิด “คุณภาพศิษย์สะท้อนคุณภาพครู” ตอนหนึ่ง ว่า ปัจจุบันเรื่องการประเมินมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญในทุกแวดวง ซึ่งรวมถึงสถาบันการศึกษาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการประเมินคุณภาพได้ ดังนั้นสิ่งที่ สมศ.รับภาระหน้าที่เป็นผู้ประเมิน ถือมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีหลายคนอยากถาม สมศ. ว่าการเข้าไปประเมินและรับรองคุณภาพมาตรฐานของสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ตัว สมศ.เองมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ตนคิดว่าเมื่อไหร่ที่ผลการประเมินของ สมศ.สามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ ผู้ปกครองพิจารณาจากผลการประเมินสถานศึกษา สมศ.ในการเลือกที่เรียนให้บุตร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ภาระหน้าที่ของ สมศ.ที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ประสบความสำเร็จ เพราะผลการประเมินเป็นที่เชื่อถือได้
    “ที่ผ่านมา สมศ.จะถูกบ่นเสมอว่าการประกันคุณภาพภายนอกทำให้สถานศึกษาต้องมาเสียเวลาและทำงานซ้ำซ้อน เพราะมีการประกันคุณภาพภายในแล้ว ผมจึงได้บอกกับประธานบอร์ด สมศ.ว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้ประเมินคุณภาพภายนอก จะต้องจัดระบบใหม่ให้สอดคล้องกับการประเมินคุณภาพภายใน โดยให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวกและลดภาระให้มากที่สุด ได้ความจริงมากที่สุด ไม่มีการจัดฉาก เพราะไม่มีใครอยากเห็นผักชีโรยหน้า” นายพงศ์เทพกล่าว
    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เมื่อ สมศ.จะเข้าไปประเมินก็เกิดผลกระทบข้างเคียงคือ การแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงหน่วยงานในสถาบันการศึกษาเดียวกัน ทำให้ต่างคนต่างรู้สึกว่าอยากทำงานของตนเองให้ดีกว่าคนอื่น จึงทำให้ขาดความร่วมมือกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะถ้าร่วมกันทำจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดย สมศ.ต้องไปพัฒนาระบบการประเมินให้เกิดความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน อาทิ อาจให้คะแนนประเมินสถานศึกษาที่เข้าไปช่วยเหลือสถานศึกษาอื่นๆ
    ศ.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. กล่าวว่า จากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ได้สะท้อนภาพความจริงให้แก่สถานศึกษาได้ทราบถึงระดับคุณภาพของตนเอง และจากการประเมินก็พบว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพศิษย์ในมิติคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความคิด ทักษะการทำงาน ซึ่งคุณภาพครูและคุณภาพศิษย์เชื่อมโยงส่งต่อกัน ไม่สามารถแยกออกได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพศิษย์ จึงต้องเกิดจากหัวใจที่มีจิตวิญญาณของครูที่มีความปรารถนาดีต่อศิษย์
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์