ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

กยศ.เล็งใช้คะแนนโอเน็ตคัดกรองผู้กู้ยืม

6 มี.ค. 2557 10:54 น.

ผู้อ่าน

ภาพ กยศ.เล็งใช้คะแนนโอเน็ตคัดกรองผู้กู้ยืม
 
      หลังจากที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ถูกตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 6,700 ล้านบาท และจะมีการของบกลาง 2,118 ล้านบาท เพื่อช่วยนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เป็นผู้กู้รายเก่าและผู้กู้รายใหม่ให้ได้กู้ยืมเรียน ขณะที่กยศ.เร่งรณรงค์และหามาตรการให้รุ่นพี่เร่งชำระหนี้คืนนั้น วันนี้(5 มี.ค.) ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ กยศ. มีแนวคิดที่จะนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาใช้เป็นหลักเกณฑ์หนึ่งในการคัดกรองผู้ที่จะกู้ยืมเงินกยศ. เพื่อต้องการให้ได้เด็กที่เห็นคุณค่าของเงิน และตั้งใจเรียนมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเรียนจบแล้วจะมีโอกาสได้งานทำ และนำเงินมาใช้คืนกองทุน โดยเร็ว ๆนี้ตนจะไปหารือกับรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เกี่ยวกับผลโอเน็ตว่าเป็นอย่างไร และถ้าจะนำมาใช้ควรดำเนินการอย่างไร
 
      ต่อข้อถามว่าถ้ามีการนำคะแนนโอเน็ตมาพิจารณาคัดกรองผู้กู้กยศ. จะเป็นการกีดกั้นเด็กด้อยโอกาสหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เน้นย้ำว่าวัตถุประสงค์กยศ.ต้องการให้คนจนได้กู้ยืมเรียน  ดร.ฑิตติมา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีวิธีไหนที่จะทำให้เด็กที่กู้ยืมเงินแล้วคืนเงินตามกำหนด ส่วนการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งตนคิดว่าไม่ขัดกับสิ่งที่องคมนตรีกล่าว เพราะกยศ.ไม่ได้นำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้ในสัดส่วนที่สูงเกินไป แต่ต้องดูตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ เพราะจะต้องหารือผู้เกี่ยวข้อก่อน
 
      ผู้จัดการกยศ.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่กระทรวงการคลัง จะเสนอขอใช้งบกลางเพื่อมาช่วยกยศ. คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ และหลังจากนั้นเมื่อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณา ตนก็หวังว่ากกต.จะเห็นใจอนุมัติตามที่เสนอ เพื่อมีเงินให้เด็กได้กู้ยืมเรียน สำหรับความคืบหน้าในการติดตามหนี้ กยศ.จะมีการใช้กระบวนการตรวจสอบผู้ค้างชำระจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้ทราบที่อยู่ และที่ทำงานของผู้กู้ เพราะที่ผ่านมาบางคนเปลี่ยนแปลงที่อยู่จึงทำให้ไม่สามารถติดตามได้ โดยขณะนี้ได้ขอข้อมูลจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ( กบข.) มาแล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อมูลในกลุ่มข้าราชการเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการประสานกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อข้อมูลด้วย จากนั้นจะประสานขอความร่วมมือนายจ้าง ที่มีผู้กู้กยศ.เข้าไปทำงานให้ช่วยหักเงินเดือนส่งคืน กยศ.
 
 
 
เครดิต นสพ.เดลินิวส์