ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สอบ GAT/PAT ช่วยมหา'ลัยคัดเด็ก เลิกจัดสอบเอง ชี้ชอบออกเกินหลักสูตร ไม่เป็นธรรมเด็กรวย-จน

9 มี.ค. 2557 09:28 น.

ผู้อ่าน

สอบ GAT/PAT ครั้ง 1/2557 วันแรกเรียบร้อยดี “จาตุรนต์” ย้ำการจัดทดสอบกลางมีความจำเป็น หวังมหา'ลัยหันมาร่วมพัฒนากับ สทศ.เพื่อใช้คัดเลือกเด็ก เลิกจัดสอบตามอัธยาศัย แบบที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกข้อสอบเกินหลักสูตรสร้างความเหลื่อมล้ำแก่เด็กที่มีเงินและไม่มีเงิน
       

ภาพ สอบ GAT/PAT ช่วยมหา'ลัยคัดเด็ก เลิกจัดสอบเอง ชี้ชอบออกเกินหลักสูตร ไม่เป็นธรรมเด็กรวย-จน


       วันนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย ศ.(กิตติคุณ) ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และนายสหัส ภัทรฐิตินันท์ ประธานศูนย์สอบ มก.เดินทางตรวจเยี่ยมสนามสอบการจัดทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ
       
       โดย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ การจัดสอบ GAT/PAT เป็นเรื่องที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มอบให้ สทศ.จัดสอบ เพื่อนำคะแนนมาใช้เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตนเห็นด้วยเพราะเป็นการจัดสอบโดยหน่วยงานกลาง ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน และผู้ปกครอง เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังจัดสอบตามอัธยาศัย และเนื้อหาของข้อสอบออกเกินหลักสูตร อีกทั้งยังมีการจัดสอบระหว่างภาคเรียนทั้งที่เด็กยังเรียนไม่จบหลักสูตรในระดับม.6 ทำให้เด็กและผู้ปกครองเดือนร้อนไปกวดวิชา เกิดความไม่เป็นธรรมกับเด็กยากจนที่ไม่มีเงินเรียนกวดวิชา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนพยายามขอให้มหาวิทยาลัยหันมาใช้ข้อสอบกลาง เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่าย เด็กยังมีเวลาเรียนจนจบหลักสูตรด้วย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยต้องการที่จะปรับปรุงข้อสอบก็หารือกับ สทศ.ได้
       
       “การที่มี สทศ.มาช่วยจัดทดสอบข้อสอบกลาง เช่น แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้รู้ว่าโรงเรียนต่างๆ มีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร มาตรฐานของโรงเรียนเป็นอย่างไร นอกจากนี้การจัดสอบ GAT/PAT จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้มหาวิทยาลัยลดหรือเลิกการจัดสอบเองด้วย ซึ่งข้อสอบของมหาวิทยาลัยนั้นมีผลต่อระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมาก ดังนั้นการจะปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้มหาวิทยาลัยควรที่จะต้องออกข้อสอบที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าว
       
       ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า การสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2557 สำหรับนักเรียนชั้นที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า หรือสูงกว่า ม.6 ขึ้นไป มีผู้มีสิทธิ์สอบทั้งสิ้น 335,960 คน ผู้มีสิทธิ์สอบที่เป็นเด็กพิเศษ จำนวน 94 คน แบ่งเป็น ประเภทความบกพร่องทางสายตา 70 คน และบกพร่องทางร่างกาย 24 คน มีสนามสอบ 243 สนามสอบทั่วประเทศ และมีศูนย์สอบ จำนวน 19 ศูนย์ โดยวันนี้เป็นวันแรกของการสอบจะสอบ 2 วิชา ช่วงเช้าเวลา 08.30-11.30 น.สอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และช่วงบ่ายเวลา 13.00-16.00 น.สอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ โดย สทศ.จะประกาศผลสอบ GAT/PAT ในวันที่ 24 เมษายน ทั้งนี้ การสอบ GAT/PAT มีความสำคัญเพราะนักเรียนจะต้องนำคะแนนไปใช้เพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบแอดมิชชัน และระบบรับตรง
       
       ขณะที่ นายสหัส กล่าวว่า สำหรับศูนย์สอบ มก.มีสถานศึกษาซึ่งเป็นสนามสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2557 จำนวน 5 สนามสอบ ได้แก่ โรงเรียนสารวิทยา โรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง โรงเรียนหอวัง โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย และ ม.เกษตรฯ ผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 27,781 คน จำนวน 933 ห้องสอบ ทั้งนี้ ก่อนจัดสอบตนได้ประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกสนามสอบ เพื่อเน้นย้ำมาตรการในการคุมสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือนั้น ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องปิดเครื่องโทรศัพท์และวางไว้ใต้เก้าอี้นั่งสอบ โดยห้ามพกติดตัวเด็ดขาด

 

 

เครดิต : ผู้จัดการออนไลน์