สทศ.จัดสอบแกต-แพต ทั่วประเทศ
9 มี.ค. 2557 09:55 น.
ผู้อ่าน
เวลา 09.30 น. วันที่ 8 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ). และนายสหัส ภัทรฐิตินันท์ ประธานศูนย์สอบ มก. เดินทางตรวจเยี่ยมสนามสอบ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือแกต และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต ครั้งที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ที่จัดสอบระหว่างวันที่ 8-11 มี.ค.
นายสัมพันธ์ กล่าวว่า การสอบแกต-แพต ครั้งที่ 1/57 นี้สำหรับนักเรียนชั้นที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า หรือสูงกว่าม.6 ขึ้นไป มีผู้มีสิทธิ์สอบทั้งสิ้น 335,960 คน ผู้มีสิทธิ์สอบที่เป็นเด็กพิเศษ จำนวน 94 คน แบ่งเป็น ประเภทความบกพร่องทางสายตา 70 คน และบกพร่องทางร่างกาย 24 คน มีสนามสอบ 243 สนามสอบทั่วประเทศ และมีศูนย์สอบ จำนวน 19 ศูนย์ โดยวันนี้เป็นวันแรกของการสอบ โดยจะสอบ 2 วิชา ช่วงเช้าเวลา 08.30-11.30 น. สอบวิชาความถนัดทั่วไป (แกต) และช่วงบ่ายเวลา 13.00-16.00 น.สอบแพต 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ โดย สทศ.จะประกาศผลสอบแกต-แพต ในวันที่ 24 เม.ย.
ทั้งนี้ การสอบแกต-แพต มีความสำคัญเพราะนักเรียนจะต้องนำคะแนนไปใช้เพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบแอดมิชชันส์ และระบบรับตรง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในการจัดสอบวันนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย
นายสหัส กล่าวว่า สำหรับศูนย์สอบ มก.มีสถานศึกษาซึ่งเป็นสนามสอบแกต-แพต ครั้งนี้ จำนวน 5 สนามสอบ ได้แก่ โรงเรียนสารวิทยา โรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง โรงเรียนหอวัง โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย และ ม.เกษตรฯ ผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 27,781 คน จำนวน 933 ห้องสอบ ทั้งนี้ ก่อนจัดสอบตนได้ประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกสนามสอบ เพื่อเน้นย้ำมาตรการในการคุมสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าสอบนั้น ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องปิดเครื่องและวางโทรศัพท์ไว้ใต้เก้าอี้นั่งสอบ และห้ามพกติดตัวเด็ดขาด
ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดสอบแกตและแพตนั้นเป็นเรื่องที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มอบให้ สทศ.จัดสอบ เพื่อนำคะแนนมาใช้เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะการจัดสอบโดยหน่วยงานกลาง ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของนักเรียน และผู้ปกครอง แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไปสอบเอง หรือสอบตามอัธยาศัย เนื้อหาของข้อสอบจึงเกินหลักสูตร จนทำให้เด็กและผู้ปกครองเดือนร้อนไปกวดวิชา เกิดความไม่เป็นธรรมกับเด็กยากจนที่ไม่มีเงินกวดวิชา แต่ที่ผ่านมาตนพยายามขอให้มหาวิทยาลัยมาใช้ข้อสอบกลาง และถ้ามหาวิทยาลัยต้องการที่จะปรับปรุงข้อสอบก็หารือกับสทศ.ได้
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า การที่มีสทศ.มาช่วยจัดทดสอบข้อสอบกลาง เช่น แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้รู้ว่าโรงเรียนต่างๆ จัดการเรียนการสอนอย่างไร มาตรฐานของโรงเรียนเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การจัดสอบแกตและแพต จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้มหาวิทยาลัยลดหรือเลิกการจัดสอบ และลดความซ้ำซ้อนของเวลา ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดสอบในช่วงเวลาระหว่างเปิดภาคเรียน ซึ่งจะกระทบต่อเด็ก เพราะฉะนั้นการสอบต่างๆ ควรเกิดขึ้นหลังจบปีการศึกษาไปแล้ว ตนเชื่อว่าระยะเวลาระหว่างปิดภาคเรียนจะเพียงพอต่อการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย
"ขอย้ำว่า ข้อสอบของมหาวิทยาลัยมีผลต่อระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมาก การปฎิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้มหาวิทยาลัยควรที่จะต้องออกข้อสอบที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน" นายจาตุรนต์ กล่าว
เครดิต : น.ส.พ.ข่าวสด