ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

"อ๋อย"ระดมความคิดอุดจุดอ่อนโอเน็ต หวังทุกวิชาได้มากกว่า50%/เห็นด้วยข้อสอบเข้าม.1,ม.4เป็นอัตนัย

2 เม.ย. 2557 13:24 น.

ผู้อ่าน

ภาพ อ๋อยระดมความคิดอุดจุดอ่อนโอเน็ต หวังทุกวิชาได้มากกว่า50%/เห็นด้วยข้อสอบเข้าม.1,ม.4เป็นอัตนัย

    "จาตุรนต์" สั่งวิเคราะห์ผลโอเน็ตอีก ระดมผู้เกี่ยวข้องหารือ ปิดจุดอ่อน "ตั้งโจทย์" จัดการเรียนการสอนตรงหลักสูตรแล้วทำไมเด็กยังทำคะแนนโอเน็ตได้ไม่ดี หวังทุกวิชาได้ไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมเห็นด้วย สพฐ.เสนอปรับรูปแบบข้อสอบเข้าเรียนต่อ ม.1, ม.4 เพิ่มข้อสอบอัตนัยมากขึ้น ชี้จะได้รองรับการข้อสอบกลางซึ่งเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น
    ผลสอบคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือโอเน็ต ล่าสุดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดสอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ทุกวิชามีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50% ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ว่า สทศ.ได้รายงานข้อมูลการวัดผลทดสอบโอเน็ต โดยเชื่อมั่นว่าผลการสอบสะท้อนเด็กมีการปรับตัวและพัฒนามากขึ้น และมั่นใจว่าระยะเวลาใน 3 ปีหลังมานี้ การสอบโอเน็ตช่วยสะท้อนและบอกได้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่างๆ และสาขาวิชาต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งสามารถแยกแยะได้ว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็กมีการพัฒนาอย่างไร รวมทั้งเด็กไทยมีแนวโน้มจุดอ่อนในด้านใดบ้าง
    รักษาการ รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนเห็นว่ายังมีประเด็นที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งการระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องจัดเสวนาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนมาหารือร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้ สทศ.เชื่อมั่นว่าการใช้โอเน็ตจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนา ซึ่งการทดสอบวัดผลดังกล่าวเน้นการเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับหลักสูตรและการ จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่เมื่อผลคะแนนการสอบโอเน็ตออกมาแล้วกลับพบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในบางวิชาต่ำมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ซึ่งฝ่ายที่จัดการเรียนการสอนก็เห็นว่าได้จัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับหลัก สูตรแล้ว ดังนั้นจึงทำให้ขาดความเข้าใจและส่งผลให้มีความเห็นที่แตกต่างกันในทาง ปฏิบัติเกิดขึ้น
    “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันวิเคราะห์ว่า การสอบวัดผล หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนมีความสอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหน ความเข้าใจระหว่างผู้ทดสอบ วัดผล กับโรงเรียนและครู มีความเข้าใจตรงกันหรือไม่ หรือที่ผ่านมามีการสอนตรงกับหลักสูตรแล้ว ซึ่งจะต้องมาดูว่าขั้นตอนการปฏิบัติเกิดจากส่วนไหนที่ส่งผลให้เกิดความเข้า ใจที่คลาดเคลื่อนจนมีความเห็นแตกต่างกัน โดยเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องหาข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเราต้องการใช้การทดสอบกลางเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้มีการ ปรับปรุงการเรียนการสอน เนื่องจาก สทศ.เองมีความคาดหวังว่าต่อจากนี้ไป การวัดผลโอเน็ตเด็กควรได้คะแนนเฉลี่ยแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องท้าทายและยากมาก” นายจาตุรนต์กล่าว
    นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาปรับรูปแบบการสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ โดยเพิ่มการสอบข้อเขียนหรืออัตนัยให้มากขึ้น ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว แต่เท่าที่ดูข้อเสนอของนายอภิชาติ มีความสอดคล้องกับนโยบายการปรับการทดสอบวัดผลของ ศธ. ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับการยกระดับคะแนนการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งโดยทิศทางจะเน้นออกข้อสอบให้เด็กได้เขียนมากขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่วนที่โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และมีเด็กสมัครสอบคัดเลือกจำนวนมาก จะเกิดปัญหาหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็ต้องใช้ศักยภาพที่มีในการแก้ปัญหาการจัดสอบ
    นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า เมื่อก่อนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจะมีจำนวนเด็กที่สมัครมากกว่า จำนวนที่รับจริงถึง 10 เท่า แต่จากตัวเลขปัจจุบันนั้นมีไม่มาก เท่าที่ดูแล้วไม่เกิน 2 เท่า ดังนั้นหากโรงเรียนจะนำการสอบแบบอัตนัยมาใช้ในการคัดเลือกก็น่าจะทำได้ ขณะเดียวกันในส่วนของการป้องกันปัญหาการทุจริตในการสอบข้อเขียนที่อาจมีการ ให้คะแนนช่วยเหลือกันนั้น ทาง สพฐ.ก็คงต้องไปหามาตรการป้องกัน เพราะในอนาคตจะต้องมีการยกระดับเรื่องการวัดผล ให้การจัดสอบมีความน่าเชื่อถือ
    “ต่อไปประเทศไทยจะต้องพัฒนาระบบการสอบมาเป็นข้อเขียนให้มากขึ้น เพราะเท่าที่ดูประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาส่วนใหญ่จะให้เด็ก สอบข้อเขียน และองค์กรระดับโลกที่จัดสอบข้อเขียนเป็นแสนๆ คนยังสามารถทำได้ ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่เรื่องยาก” นายจาตุรนต์กล่าว

 

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์