ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

เคล็ด(ไม่)ลับแก้โอเน็ตต่ำ

14 พ.ค. 2557 10:43 น.

ผู้อ่าน

คุณภาพการศึกษาเด็กไทยตกต่ำ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามหาวิธีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ที่สะท้อนออกมาเวลานี้ กลับยังไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ดูได้จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ปีล่าสุด ที่ยังคงพบว่า เกือบทุกวิชาเด็กมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง อีกทั้งผลประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรนานาชาติ อย่างการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ก็ยังมาตอกย้ำในทิศทางเดียวกันว่า การศึกษาไทยรั้งท้ายเกือบทุกตาราง จึงเป็นงานหนักที่ ศธ. ต้องขบคิดกันใหม่ว่า ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จังหวัดเชียงราย เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงขอมีส่วนช่วยกระตุ้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยให้ดีขึ้น โดย มูลนิธิ มฟล. เพื่อการพัฒนาครูชนบท ได้จัด โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการสอนของครูมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงราย โดยเชิญคณาจารย์ มฟล. และผู้เชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดความรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และเทคนิคการสอน ให้แก่ครู 1,200 คน จาก 46 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ครูจากโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า เราไม่ได้มุ่งมั่นเฉพาะการสอนระดับปริญญาเท่านั้น แต่ยังต้องการพัฒนาวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพดีด้วย ซึ่งโรงเรียนมัธยม ศึกษาเปรียบเสมือนต้นน้ำที่จะผลิตวัตถุดิบดี ๆ ให้สถาบันอุดมศึกษา ตนเชื่อว่าเด็กจะเก่งได้ต้องอยู่ที่ครู ดังนั้น มฟล. จึงเน้นการพัฒนาที่ครูก่อน โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาของจังหวัดเชียงรายเป็น อันดับ 1 ในภาคเหนือ รวมทั้งให้ทุกโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายมีผลโอเน็ตสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับ ประเทศ

“เราใช้เงินรางวัลเป็นแรงจูงใจครูในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยโรงเรียนใดมีผลโอเน็ตสูงขึ้นจากคะแนนเฉลี่ยเดิมของตนเอง จะได้เงิน 20,000 บาทต่อกลุ่มสาระฯ และโรงเรียนใดมีผลโอเน็ตเพิ่มขึ้นจากเดิม 4% ขึ้นไป จะได้เงิน 40,000 บาทต่อกลุ่มสาระฯ ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนรับเงินรางวัลจาก มฟล. ไปแล้วรวมเป็นเงินกว่า 1.8 ล้านบาท แสดงว่าการจัดอบรมที่เราทำประสบความสำเร็จมาก เพราะเดิมมีโรงเรียนที่มีผลโอเน็ตสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศเพียง 3 โรงเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 20 โรงแล้ว”

ด้าน ดร.อมร โอวาทวรกิจ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. กล่าวว่า หลักการของโครงการคือ การเปลี่ยนแนวความคิดการสอนของครูใหม่ โดยให้มองวิชาวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สอนแต่ในหนังสือ และการเรียนแต่ละบทควรเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ต้องเน้นเนื้อหามาก แต่ควรยกตัวอย่างสิ่งรอบตัวให้เด็กเห็นภาพ และเข้าใจง่าย ซึ่งเมื่อเด็กเข้าใจ เด็กก็จะชอบเรียน อีกทั้งควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมด้วย อาทิ แอนิเมชั่น ยูทูบ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อกับการเรียนวิทยาศาสตร์

ปิดท้ายที่ นายวันสว่าง สิงห์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบุญเรืองวิทยาคม จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา (สมศ.) เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กต่ำมาก โดยเฉพาะคะแนนโอเน็ต แต่หลังจากส่งครูเข้าอบรมกับ มฟล. ทำให้คะแนนโอเน็ตของเด็กพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่แนวหน้าของจังหวัด ภายในเวลา 2 ปี

“การอบรมของ มฟล. จะแตกต่างจากการอบรมครูของที่อื่น ๆ เพราะก่อนจัดอบรมจะมีการวิพากษ์ก่อนว่าต้องการให้เพิ่มเติมอะไร จึงทำให้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งจากการสอบถามครูทุกคนที่เข้าอบรม พบว่า การอบรมที่นี่ทำให้ครูมีองค์ความรู้ที่ชัดเจน และทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ครูมีความมั่นใจในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และการสร้างเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่มีคุณภาพด้วย”

หากทุกฝ่ายช่วยกันคนละไม้คนละมือ ความหวังที่คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจะดีขึ้น และทัดเทียมกับนานาประเทศคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม.

 

 

มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ 
เครดิต นสพ.เดลินิวส์