ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

คุรุสภาเข้ม ไม่เปิดทางพิเศษครูสาขาขาดแคลน

21 พ.ค. 2557 13:24 น.

ผู้อ่าน

       “คุรุสภา” ลั่นไม่เปิดทางพิเศษให้สาขาขาดแคลนเป็นครูง่ายขึ้น ชี้ผิดทั้งกฎหมายหนำซ้ำสังคมยังมองวิชาชีพครูอ่อนอยู่แล้ว เผยตั้งคณะทำงานทบทวนกระบวนการเข้าสู่วิชาชีพครู พร้อมอนุมัติ 8 สถาบันเปิดสอน ป.บัณฑิต ใน 11 หลักสูตร ประจำปีการศึกษา 57
       
       วันนี้ (20 พ.ค.) ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำข้อเสนอขององค์กรหลักที่เกี่ยวกับระบบผลิตและพัฒนาครู มาหารือในที่ประชุมโดยเฉพาะการผลิตครูช่างเพื่อป้อนอาชีวศึกษา ซึ่งเวลานี้ขาดแคลนครูเฉพาะด้านที่มีคุณสมบัติพิเศษจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้คุรุภาก็ให้ความสำคัญ และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนกระบวนการเข้าสู่วิชาชีพครูทั้งหมด โดยจะดูว่าคนที่เข้าสู่วิชาชีพครูมีกลุ่มใดบ้าง และเข้าสู่วิชาชีพครูโดยวิธีใด ขณะเดียวกัน ปลัด ศธ. ยังรับจะรวบรวมข้อมูล ที่อยากให้คุรุสภาพิจารณาปรับปรุง อาทิ สาขาขาดแคลนในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมถึงครูในสาขาขาดแคลนอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ก็เคยหารือกับตนโดยตรง ว่าไม่อยากให้มองข้ามผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาขาดแคลนเหล่านี้ และอยากให้เปิดช่องให้คนเหล่านี้มาเป็นครูได้ง่ายขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ของคุรุสภา อาจจะยาก และซับซ้อนเกินไปทำให้เขาไม่อยากมาสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
       
       “ส่วนตัวเห็นว่าหลักเกณฑ์การเข้าสู่ วิชาชีพครูของคุรุสภาขณะนี้ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว ดังนั้น จึงอาจจะทำการศึกษาวิจัยหาผลที่แท้จริง โดยเฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ว่ามีเหตุผลอะไรที่ไม่เข้าสู่วิชาชีพเต็มตัว เพราะถ้าเขาอยากเป็นครูจริงๆ ก็ควรปรับตัวให้เข้าสู่วิชาชีพ ส่วนที่เสนอให้มีช่องทางพิเศษ เฉพาะสาขาที่ขาดแคลนนั้น ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ผิดกฎหมาย การให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำกับอยู่ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือมาหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในข้อจำกัดต่างๆ เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกัน แต่ยืนยันว่าจะไม่ปรับหลักเกณฑ์เพื่อทำให้วิชาชีพครูอ่อนแอลง เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทางไม่ดีอยู่แล้ว”ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
       
       ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้การรับรองประกาศนียบัตรทางการศึกษา ในสถานที่ตั้ง ปีการศึกษา 2557 ของ 8 สถาบัน 11 หลักสูตร ดังนี้ 1. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพฯ รับนักศึกษาจำนวน 180 คน 2. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2557) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ รับนักศึกษาจำนวน 30 คน 3. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จ.เชียงใหม่ รับนักศึกษาจำนวน 100 คน 4. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพฯ รับนักศึกษา 180 คน 5. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รับนักศึกษา 180 คน
       
       6. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2557) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ รับนักศึกษา 120 คน 7. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จ.เชียงใหม่ รับนักศึกษาจำนวน 180 คน 8. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รับนักศึกษาจำนวน 120 คน 9. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี รับนักศึกษาจำนวน 180 คน 10. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2557) มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และ 11. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี โดยมีหลักเกณฑ์ว่าแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาได้ไม่เกิน 180 คนต่อปีห้องละไม่เกิน 30 คน ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรภายในวงเงินไม่เกิน 35,000 บาทต่อปี

 

เครดิต นสพ.ผู้จัดการ