ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สมศ.ผุดQC100ยกเครื่อง"ผู้ประเมิน" ติดตามพฤติกรรม-ความสามารถ/เปิดกว้างฟังเสียงสะท้อนสถานศึกษา

12 มิ.ย. 2557 11:09 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สมศ.ผุดQC100ยกเครื่องผู้ประเมิน ติดตามพฤติกรรม-ความสามารถ/เปิดกว้างฟังเสียงสะท้อนสถานศึกษา

    สมศ.ล้างภาพบุคลากรไร้ประสิทธิภาพในการประเมิน ผุดโครงการ QC 100 ทำหน้าที่ติดตามพฤติกรรมและความสามารถ "ผู้ประเมินสถานศึกษา" ฟังสียงสะท้อนจากสถานศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุง มาตรฐานและคุณภาพ เริ่มใช้จริงจังในการประเมินรอบที่ 4 หลังพบประเมินรอบ 3 มีข้อร้องเรียนจากสถานศึกษาว่าผู้ประเมินไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ชี้เพื่อลดปัญหาข้อร้องเรียน ปรับทัศนคติที่ดีต่อผู้ประเมิน
    ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมศ.อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 (2554-2558) และกำลังจัดทำเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 4 (2559-2563) ซึ่งในการประเมินรอบที่ 3 นั้น มีข้อร้องเรียนต่างๆ จากสถานศึกษาเกี่ยวกับผู้ประเมินมามาก ทั้งเรื่องพฤติกรรมและความสามารถ คือในส่วนของมหาวิทยาลัยมีข้อสังเกตว่าผู้ประเมินนั้นจะสามารถประเมินได้ตรง สาขาหรือไม่ เพราะบางมหาวิทยาลัยมีหลายคณะ ฉะนั้นผู้ประเมินต้องไปดูสาขาใกล้เคียง ซึ่งเราพยายามขอให้อธิการบดีหรืออดีตอธิการบดีมาเป็นประธานในการประเมิน อย่างน้อยคนที่เคยบริหารมหาวิทยาลัยมาแล้วจะสามารถดูในภาพรวมของมหาวิทยาลัย ได้ทั้งระบบ ส่วนอาชีวศึกษานั้นไม่คอยมีปัญหาเท่าไหร่ เนื่องจากมีจำนวนน้อย และมีกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญทางด้านการอาชีวะ เช่น สถาบันพระจอมเกล้าฯ ทั้ง 3 แห่ง และเทคโนโลยีราชมงคล เป็นกลุ่มบุคคลที่จะไปประเมิน
    ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวต่อว่า ในส่วนปัญหาของการประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นคือ มีจำนวนผู้ประเมินเพียงกว่า 3,000 คน แต่ขณะที่สถานศึกษามี 30,000 กว่าแห่ง นอกจากนี้ ปัญหาของผู้ประเมินของศูนย์เด็กเล็กที่สะท้อนมาคือ ผู้ประเมินมีความรู้ความสามารถเรื่องเด็กจริงหรือไม่ โดยจริงๆ แล้วการที่จะรับผู้ประเมินเข้ามาต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่ผู้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาขาที่เกี่ยวข้องที่สามารถมาประเมินได้ อย่างน้อยต้องมีความรู้เกี่ยวกับเยาวชนโดยจะผ่านการอบรมเกี่ยวกับด้านการ ศึกษา ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประเมินคือ ด้านการสื่อสาร เนื่องจากโดยธรรมชาติ สถานศึกษาจะเกรงหรือกลัวผู้ประเมิน และเมื่อผลประเมินออกมาแล้วก็จะมีข้อกังขา เช่น กรณีที่สถานศึกษาไม่ได้ผลประเมินอย่างที่ตั้งใจ ก็จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ไม่ผ่านการประเมิน
    ดังนั้น สมศ.จึงได้ทำโครงการ QC 100 เพื่อติดตามพฤติกรรม การทำงานของผู้ประเมินทุกคน ทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ อุดมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาก่อนวัยเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก เพื่อพัฒนาให้ผู้ประเมินมีมาตรฐานคุณภาพที่ใกล้เคียง พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากสถานศึกษามาปรับปรุงแก้ไข ย้อนกลับไปสู่ผู้ประเมินให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อเกิดการยอมรับและปรับทัศนคติที่ไม่ดีต่อการประเมินคุณภาพภายนอก อีกทั้งเพื่อนำกลับมาพัฒนาเกณฑ์การประเมินหน่วยประเมิน ในช่วงการประเมินคุณภาพรอบที่ 4 ซึ่ง สมศ.ได้นำร่องโครงการดังกล่าวไปแล้วในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 โดย สมศ.ส่งแบบสอบถามพฤติกรรม การทำงานของผู้ประเมินให้สถานศึกษาทุกแห่งแล้ว โดยสถานศึกษาจะส่งแบบประเมินมายัง สมศ.โดยตรงเลย
    "ทั้งนี้ สถานศึกษาใดไม่ส่งแบบประเมินจะถือว่าการประเมินคุณภาพภายนอกไม่สมบูรณ์ ผลการประเมินจะไม่ออก และเมื่อได้ผลประเมินมาแล้ว สมศ.จะมีคณะกรรมการมาวิเคราะห์ผู้ประเมินเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาผู้ประเมินต่อไป” ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์