ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

โรดแม็พปฏิรูปศึกษา9ข้อ แยกสกอ.ออกจากศธ.-ลดเวลาเรียน-แก้โครงสร้างเน้นกระจายอำนาจ

15 ส.ค. 2557 09:49 น.

ผู้อ่าน

ภาพ โรดแม็พปฏิรูปศึกษา9ข้อ แยกสกอ.ออกจากศธ.-ลดเวลาเรียน-แก้โครงสร้างเน้นกระจายอำนาจ

 

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.57 นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการ ตามแผนโรดแมปปฏิรูปการศึกษา (ปี 2558-2564) ว่า ที่ประชุมได้สรุปประเด็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2558 ซึ่งได้ผ่านการเพิ่มเติมประเด็นจากสภาการศึกษา และการเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งจากคำกล่าวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ข้อสรุปว่า จะมีการเพิ่มค่านิยมหลัก 12 ประการ แนวทางการสร้างสังคมครอบครัวที่อบอุ่น 6 ประการ โดยโรดแมปดังกล่าววางกรอบเวลาระยะยาวถึงปี 2569 และมีแผนระยะปานกลางจนถึงปี 2564

     ทั้งนี้ โรดแมปดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมองค์กรหลัก ศธ. วันที่ 18 ส.ค.57 นี้ จากนั้นจะเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อเสนอต่อ คสช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป  

     สำหรับประเด็นเร่งด่วนด้านการศึกษา ที่จะดำเนินการในปี 2558 มีดังนี้ 1.การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ลดเวลาเรียนในวิชาที่ซ้ำซ้อนไม่จำเป็น เพิ่มการจัดการเรียนการสอน ผ่านกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต เป็นพื้นฐานการทำงาน การประเมินเพื่อศึกษาต่อต้องสอดคล้องกับการพัฒนาคน 2.ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา สร้างสุภาพชนคนอาชีวะ สร้างค่านิยมใหม่ยกระดับอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอาชีพ 3.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระดับอุดมศึกษา การสร้างคนระดับปริญญาเอก

     4.ปรับ โครงสร้าง ศธ.เน้นการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่ และแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เป็นอิสระ ซึ่งอาจมีแนวทางใกล้เคียงกับการมีทบวงมหาวิทยาลัยในอดีต 5.การได้มาซึ่งผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ในคณะกรรมการหรือองค์คณะต่างๆ ในการศึกษา 6.การได้มาซึ่งครูเก่งและดี ปรับระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 7.ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการศึกษาระบบทางไกลผ่านดาวเทียม 8.ปรับระบบการอุดหนุนรายหัวทางการศึกษา ให้มีความเป็นธรรม เสมอภาคและพอเพียง และ 9.แผนแม่บทไอซีทีทางการศึกษา 

     นางสุทธศรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา ภายในปี 2564ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ได้แก่ การปรับสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญต่ออาชีวศึกษา เป็น 50:50 ในปี 2564 และเป็น 40:60 ในปี 2569, อัตราส่วนสถานศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชนจากปัจจุบัน 20:80 เป็น 30:70 ในปี 2564 และเป็น 35:65 ในปี 2569 รวมถึงตั้งเป้าหมายให้ผลคะแนน O-NET เกินร้อยละ 50 ทุกสาขาวิชา ผู้จบการศึกษาภาคบังคับร้อยละ 100 อัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ต้องเป็น 0 ปรับการเรียนการสอนภาษาไทย 

      "สำหรับกลไกการขับเคลื่อนนั้น จะผลักดันให้มีการนำไปสู่การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้มีการทำแผนพัฒนาคน 5 ช่วงวัยในด้านการศึกษา มีการตั้งคณะกรรมการหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ ให้มีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรเป็นหน่วยงานหลักด้านวิชาการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วม เน้นการศึกษาทางเลือก ขยายรูปแบบการศึกษาที่ดี ให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ดูความต้องการกำลังคนสอดคล้องกับกลุ่มจังหวัด และให้มีการประเมินผลและการรับเข้าศึกษาต่อในแต่ละช่วงชั้นที่สอดคล้องกับ หลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน เป็นต้น" ปลัด ศธ.กล่าว 

 

เครดิต นสพ.สยามรัฐ