ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ชี้"ปรับระบบ" เข้ามหา'ลัย ข้อย่อยต้องชัด ทวท.ขอเป็นเจ้าภาพออกข้อสอบวิทย์-คณิต

24 มิ.ย. 2557 10:01 น.

ผู้อ่าน

    ปรับระบบแอดมิชชั่น สอบรับตรงยังไม่ลื่นไหล อธิการ มธ.ชี้ต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัด เพราะหลักเกณฑ์เดิมแต่ละคณะ/มหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน ทวท.ขอออกข้อสอบ GAT/PAT เอง เพิ่มคิดวิเคราะห์
    นายสุพจน์ หาญหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะรองประธานที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) กล่าวเห็นด้วยกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดม ศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลาง และระบบการรับตรง ในปีการศึกษา 2559 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ทวท. เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้มีการหารือถึงปัญหาในเรื่องการออกข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ใช้ในแอดมิชชั่นกลาง ว่าควรต้องรื้อระบบการออกข้อสอบใหม่ โดยเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ เช่นเดียวกับรูปแบบข้อสอบของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ไม่ใช่เน้นท่องจำเช่นปัจจุบัน โดยทาง ทวท.ยินดีให้ความร่วมมือกับ ทปอ. และพร้อมรับเป็นแม่งานในการออกข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ใช้ใน การแอดมิชชั่น ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมอบหมายให้ตนเข้าไปประสานกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อเสนอตัวเข้าไปช่วยออกข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เพื่อใช้ทดสอบนักเรียนด้วย เนื่องจากเห็นว่าหากเราสามารถปรับข้อสอบให้เน้นคิดวิเคราะห์ได้ จะช่วยแก้ปัญหาการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ด้วย
    นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การสอบรับตรงร่วมกันสำหรับคณะ/สาขาที่ใช้คะแนนสอบวิชาเดียวกัน เช่น อาจจะใช้คะแนน GAT/PAT ในการรับเด็กเข้าเรียน ก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับคณะ/สาขาที่ใช้องค์ประกอบรับตรงต่างกัน อาจจะมีปัญหาเรื่องการประสานงาน อาทิ คณะนิติศาสตร์ มธ. ไม่ใช้คะแนนวิชาภาษาไทยในการพิจารณารับเด็ก แต่ของจุฬาฯ อาจจะใช้ ดังนั้น มธ.เองก็อาจจะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้เด็กสอบวิชาภาษาไทย ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้นำคะแนนไปพิจารณา ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่จะต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน ในส่วนของ มธ.นั้น การกำหนดสัดส่วนและองค์ประกอบในการรับเด็กเข้าเรียน ถือเป็นการตัดสินใจของแต่ละคณะ มหาวิทยาลัยไม่สามารถบังคับได้
    นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนการสอบของ ทปอ. เพราะน่าจะช่วยแก้ปัญหารับตรงได้ ที่ผ่านมามีปัญหาต่างคนต่างรับ และรับคนละช่วงเวลา เกิดการแย่งชิงเด็กกัน ส่วนเด็กก็สอบหลายที่ เกิดปัญหากั๊กที่เรียน ดังนั้นที่ผ่านมาทางคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็เคยมีการหารือกันว่าน่าจะมีการจัดสอบพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อสอบและกระบวนการสอบที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องมีแผนการรับนักศึกษาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลิตบัณฑิตล้นตลาดเหมือนที่ผ่านมา
    น.ส.รมย์นลิน กิจเกษตรสถาพร หรือน้องมิลล์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยหากให้มีการสอบรอบเดียว เพราะในวันสอบเราอาจจะตื่นเต้นหรือเครียด เพราะเป็นการสอบครั้งแรกและครั้งเดียว ก็อาจทำให้คะแนนออกมาไม่ดี เสียโอกาสในการเข้าเรียนต่อ ซึ่งถ้าพลาดก็อาจต้องไปสอบใหม่ในปีหน้า หรือต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์