ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สมศ.ระส่ำที่ประชุมทปอ.หงุดหงิดเคยเสนอยุบ

17 ก.ค. 2557 09:41 น.

ผู้อ่าน

    สมศ.ระส่ำ จุฬาฯ ยอมรับที่ประชุม ทปอ.เคยมีมหา’ลัยเสนอยุบ สมศ. ชี้หลายแห่งหงุดหงิดเกณฑ์ประเมิน ด้านหมอภิรมย์ระบุต้องใช้การพูดคุยหาทางออก และคำนึงถึงปรัชญาการก่อตั้งสถาบันประเมินระดับชาติ ด้าน สมศ.เตรียมแถลงใหญ่เคลียร์กระแสศุกร์ 18 ก.ค.นี้ "ศ.ดร.อุทุมพร" จวกมหา'ลัยอย่ากลัวกระจกการประเมิน
    นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่มีข้อเสนอให้มีการปรับรื้อหรือยุบสำนักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า มุมมองที่สถาบันการศึกษามีต่อ สมศ.มีหลายมุมมอง ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่าเกณฑ์การประเมินที่ สมศ.ประกาศใช้นั้นยุ่งยาก การยุบ สมศ.ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่เราต้องมองถึงปรัชญาการก่อตั้ง สมศ. ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ สมศ.ตั้งขึ้นเพื่อประเมินข้อดี-ข้อด้อยของการศึกษาในแต่ละระดับ แต่ขณะนี้ทุกคนกำลังหงุดหงิดกับเกณฑ์การประเมิน จะยุบ สมศ.เลยก็อาจเป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกจุด
    "ที่ผ่านมาในการหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็ยอมรับว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเสนอให้ยุบ สมศ. ขณะนี้จุฬาฯ ก็เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก็รู้สึกหงุดหงิดบ้าง แต่เราก็ต้องใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา โดยตนเห็นว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่การพูดคุยทำความเข้าใจกัน" นพ.ภิรมย์กล่าว
    นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ ศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ได้เชิญผู้แทนจาก ทปอ. และมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอที่จะให้ สมศ.ปรับปรุงการประเมินคุณภาพภายนอก อาทิ ตัวชี้วัด เกณฑ์การประเมินต่างๆ รวมถึงประเด็นปัญหา หรือแนวทางแก้ไขว่าจะมีการดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน โดยส่วนตัวมองว่ามหาวิทยาลัยคงไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกหรือยุบ สมศ. เพราะบุคคลที่อยู่ใน สมศ.เองก็ล้วนเป็นคนอุดมศึกษาเหมือนกัน หากมีข้อสงสัยก็น่าจะหาข้อสรุป ทำความเข้าใจร่วมกันได้ 
    ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการยุบ สมศ. มีใจความสำคัญว่า การทำหน้าที่ประเมินมหาวิทยาลัยของ สมศ. ก็เพื่อให้สังคมรับรู้คุณภาพมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจส่งลูกหลานเข้าเรียน อีกทั้งยังถือว่าการประเมินของ สมศ.ส่วนหนึ่งยังเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัยอีกด้วย และการประเมินทุก 5 ปีของ สมศ.จะเป็นกระจกส่องทำให้ผู้บริหารมองเห็นจุดอ่อน-จุดแข็งของตนเอง และรู้ว่าควรปรับปรุงอะไรบ้าง และมองว่าอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัยกลัวได้คะแนนประเมินต่ำ จึงหาทางทำให้ได้คะแนนสูง
    "ดังนั้น การยุบ สมศ.จึงมิใช่ตำตอบ แต่ถ้าเสนอให้ สมศ.ปรับปรุงวิธีทำงานให้ดีขึ้นน่าจะเป็นทางออกที่ดี หรือถ้ายุบ สมศ.ก็น่าจะใช้ World Ranking เป็นตัวประกันคุณภาพแทน ซึ่งจากการตรวจสอบลำดับของมหาวิทยาลัยไทย จึงเสนอว่าถ้าอธิการบดีและคณบดียอมรับความจริงเรื่องคุณภาพ แล้วหันมาช่วยกันพัฒนาคุณภาพผลผลิต 4 อย่าง ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยของตน ก็จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง นั่นคือตัวเองประเมินตัวเองก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้เกณฑ์ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ติดลำดับ 500 ลำดับแรกของโลกก็ยุบมหาวิทยาลัยนั้นเสีย" ศ.ดร.อุทุมพรระบุ.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์