ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

แนะปิดช่องการเมืองจุ้นการศึกษา

21 ก.ค. 2557 09:57 น.

ผู้อ่าน

วันนี้(19ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้เปิดเวทีสาธารณะ : ปฏิรูปการศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย โดย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาด้านสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า คสช.ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงไม่ว่าจะเป็นสังคมชนบท สังคมเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงการศึกษา ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้นำไปสู่ความแตกแยกของสังคมได้ ดังนั้นภาคการศึกษาจึงต้องเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อนำไปสู่สังคมที่สงบและสมานฉันท์ให้ได้ โดยต้องสร้างวิจารณญาณให้แก่ประชาชน รวมทั้งต้องทำให้ระบบการศึกษามีส่วนรับผิดต่อสังคมมากขึ้น ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการปฏิรูปประเทศนั้นจะต้องเน้นการปฏิรูปการ เรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องสร้างโอกาสการเรียนรู้จากการมี ครูดี หลักสูตรดี โรงเรียนดี เพื่อนำไปสู่งานดี ตลอดจนต้องปฏิรูประบบการเงินโดยจัดบัตรทองการศึกษาให้ผู้เรียนสามารถเลือก ที่เรียนได้ รวมถึงการอุดหนุนของภาครัฐต้องเป็นไปตามผลการประเมินที่สังคมยอมรับ ซึ่งเป็นการประเมินจากความนิยมของผู้เรียนด้วย

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศธ.กล่าวว่า ปัญหาการจัดการศึกษาคือ การขาดความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างต่อเนื่องของทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาชาติ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ ต้องปิดช่องไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงจนทำให้การศึกษาเสียระบบ นักการเมืองต้องไม่เอาใจครู และต้องมีหลักสูตรที่จะสร้างเด็กให้คิดเป็น ใฝ่รู้ และมีคุณธรรม

ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำในการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปอุดมศึกษา เพราะทุกวันนี้ยังเข้าใจว่า บัณฑิตที่จบระดับอุดมศึกษามีคุณภาพแล้ว ทั้งที่ความจริงยังไม่ใช่ อีกทั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ก็เป็นกระบี่ที่ไร้พลัง เพราะไม่มีอำนาจจัดการกับมหาวิทยาลัย รวมถึงเรื่องการวัดและประเมินผลการศึกษาก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเรียน รู้ ยังไม่สามารถปลูกฝังเรื่องคุณธรรมความดีให้แก่เด็กและเยาวชนได้

รศ.ดร.สม พงษ์ จิตระดับ อาจารณ์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ควรต้องเร่งเขียนกฎหมายให้ส่วนกลางมีอำนาจลดลง โดยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษามากขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการศึกษา

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ.กล่าวว่า ศธ.จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดจากการเสวนาครั้งนี้ไปทำข้อสรุปเสนอให้ คสช.พิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

 

เครดิต นสพ.เดลินิวส์